วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

ปัญหาความชั่วร้ายตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส

ปัญหาความชั่วร้ายตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส
กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ความชั่วร้าย มี 2 ชนิด คือ

1. ความชั่วร้ายทางกายภาพ ( Physical Evils ) ได้แก่ แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ และภัยพิบัติ เป็นต้น
2. ความชั่วร้ายทางศีลธรรม ( Moral Evils ) ได้แก่ บาปที่บุคคลทำ เช่น การลักขโมย การฆ่าคน การประพฤติผิดในกาม และการทารุณกรรมต่าง ๆ เป็นต้น



1.ว่าด้วยความชั่วร้ายทางกายภาพ ( Physical Evils )
ความชั่วร้ายทางกายภาพ หมายถึง ความชั่วร้ายที่ไม่ได้เกิดจากการที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ แต่เป็นการเกิดขึ้นอย่างอิสระ อยู่เหนือการควบคุมและความเข้าใจของมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแน่นอนว่าความชั่วร้ายทางกายภาพจะเกิดขึ้นที่ใด เมื่อไร และอย่างไร เป็นความชั่วร้ายที่มนุษย์ต้องการหลีกเลี่ยง และพยายามหยุดเหตุการณ์เหล่านั้นไว้ให้ได้ แต่ก็ไม่สามารถกระทำได้
ความชั่วร้ายทางกายภาพ กล่าวได้อีกคือ เป็นความเจ็บป่วยทางกายภาพ (Physical injures) การพังทลาย (damages) และความบกพร่อง (defects) และสาเหตุต่าง ๆ ทางกายภาพที่ทำให้ความชั่วร้ายทางกายภาพเกิดขึ้น เช่น การทำลายล้าง เมื่อเกิดน้ำท่วม พายุที่พัดทำลายบ้านเรือนและสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งโรคร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ร่างกาย หรือสิ่งบกพร่องทางกายภาพต่าง ๆ ด้วย เช่น แขนขาด ขาขาด ตาบอด ฯลฯ นอกจากความชั่วร้ายที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีความชั่วร้ายที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ คือมนุษย์เป็นผู้กระทำให้เกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ ทำให้สภาพทางธรรมชาติเปลี่ยนไป เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก การปล่อยน้ำเสียลงคลอง ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้น้ำไม่สะอาดพอที่สัตว์น้ำจะอาศัยได้ สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป และทำให้ธรรมชาติเสียสมดุลทางนิเวศ ส่งผลกระทบทำให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อโลกโดยตรง โดยที่มนุษย์ไม่สามารถรู้ได้
2.ว่าด้วยความชั่วร้ายทางศีลธรรม ( Moral Evils )
ความชั่วร้ายทางศีลธรรม หมายถึง ความชั่วร้ายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง เป็นทั้งความไม่สมบูรณ์ทางศีลธรรมหรือเป็นการละเลย หรือเป็นการกระทำที่เบี่ยงเบนออกจากบรรทัดฐานของกฎแห่งความดี เป็นความบกพร่องทางศีลธรรม ซึ่งศีลธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดีในตัวเองอยู่แล้วเป็นความดีที่เป็นจริยธรรมส่วนบุคคล และจริยธรรมทางสังคม เมื่อมนุษย์ไม่กระทำตามกฎทางศีลธรรม ก็จะทำให้เกิดความบกพร่องทางศีลธรรมและทางสังคมตามมา ความชั่วร้ายทางศีลธรรมที่มนุษย์ได้กระทำนี้ เป็นเจตจำนงเสรีที่มนุษย์ตัดสินใจเลือกที่จะกระทำในแต่ละจังหวะของชีวิต ดังนั้น ความชั่วร้ายทางศีลธรรมจึงเกิดจากการกระทำของมนุษย์โดยตรง ผลที่ตามมาของการผิดศีลธรรม คือความเลวร้ายหรือความชั่วร้ายส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

1. มุมมองปัญหาความชั่วร้ายตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส

1.1 การขาดความดีของสัตเป็นความชั่วร้าย
นักบุญโทมัส อไควนัส ให้ความคิดเกี่ยวกับความชั่วร้ายว่าเป็นการขาดความดีของสัต ในโลกที่พระเจ้าทรงสร้าง พระองค์ทรงสร้างให้ทุกสิ่งดีพร้อม แต่สรรพสิ่งที่ดีพร้อมนั้นก็ย่อมมีวันที่จะต้องสูญเสียสิ่งที่ตนเองมี เพราะทุกสิ่งมีความจำกัดและมีขอบเขต ไม่มีความหยั่งยืนเหมือนผู้ที่ได้สร้างสรรพสิ่งมา เพราะฉะนั้น สรรพสิ่งจึงเป็นความดี และการมีอยู่ของสรรพสิ่งนั้นจึงเป็นความดีด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์ให้สรรพสิ่งที่ดีนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีความชั่วร้ายจึงเป็นเพียงความบกพร่องที่เกิดขึ้นในสรรพสิ่ง เพราะสิ่งนั้น ๆ ได้สูญเสียสภาพของความดีและตกต่ำไป (the privation of good) หรือ การมีความดีที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ความชั่วร้ายจึงไม่สามารถมีอยู่ในฐานะเป็นสัตหรือความเป็นอยู่ ความดีต่างหากที่เป็นอยู่ แต่เป็นอยู่อย่างจำกัด ในความจำกัดของความดีนี้ ทำให้ความชั่วร้ายเข้ามา แต่ความชั่วร้ายนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความดีสูญหายไปได้

1.2 จักรวาลที่สมบูรณ์ในความหลากหลายของสรรพสิ่ง
เราจะเห็นว่าสรรพสิ่งในจักรวาลถูกสร้างให้เป็นระบบระเบียบ มีตั้งแต่สิ่งที่ดีมากคือมนุษย์ ไปจนถึงสิ่งที่ดีน้อยที่สุด ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ทำไมพระเจ้าไม่ทรงสร้างสรรพสิ่งให้มีความดีเท่าเทียมกัน ทำไมต้องสร้างสิ่งหนึ่งให้ดีกว่าสิ่งหนึ่ง เช่น สร้างมนุษย์ให้ดีกว่าสัตว์ สร้างสัตว์ให้ดีกว่าพืช นักบุญโทมัส อไควนัส ตอบว่า ความหลากหลายเป็นความดีของจักรวาล เป็นการแสดงธรรมชาติแห่งความดีที่พระเจ้าทรงมีอย่างสมบูรณ์และเป็นตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงแสดงออกมาให้มนุษย์ได้เห็นในพระเจ้าอย่างสมบูรณ์
นักบุญโทมัส อไควนัส กล่าวต่อไปว่า ความชั่วร้าย ก็เป็นสิ่งที่ทำให้จักรวาลสวยงามเช่นกัน ทั้งนี้ เพราะพระเจ้าทรงสร้างจักรวาลและสรรรพสิ่งต่าง ๆ ให้มีระดับขั้นความสมบูรณ์ นั่นคือ การมีความสมบูรณ์ที่แตกต่างกัน และมีสิ่งที่ตรงข้ามกัน ความดีก็ตรงข้ามกับความชั่วร้าย เหมือนกับดอกไม้ในสวนที่มีหลายดอกที่อยู่ด้วยกัน การที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้ายในจักรวาลหรือในโลกนี้ก็เพื่อสร้างความสมดุลให้กับจักรวาล โดยที่มองจากภาพรวม ไม่ใช่มองเฉพาะจุด เพราะหากมองโดยรวม จะพบว่ามีความสวยงามของธรรมชาติในจักรวาลอย่างแท้จริง เช่น ในชีวิตของมนุษย์มีเรื่องราวมากมายเข้ามาในชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความสุขและความทุกข์ เสียงหัวเราะ น้ำตา และอื่น ๆ นี่คือชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างแท้จริง เมื่อเรามองเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา ก็จะพบว่าชีวิตนี้มีความสุขมากกว่าทุกข์แน่นอน แม้จะทุกข์ก็จะสุขในความทุกข์นั้น

1.3 เจตจำนงเสรีของมนุษย์ทำให้เกิดความชั่วร้าย
นักบุญโทมัส อไควนัส กล่าวว่า พระเจ้าทรงสร้างทุกอย่างล้วนดี ให้มีเสรีภาพ และ
ให้มนุษย์นั้นเป็นสิ่งสร้างที่ดีที่สุด ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่ชั่วร้ายในตัวมันเอง ความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการใช้เสรีภาพในทางที่ผิดหรือถูกของมนุษย์ในการกระทำสิ่งต่าง ๆ
1.3.1 การกระทำโดยสมัครใจ (Voluntary actions) หมายถึง การกระทำที่เป็นอิสระจากเจตจำนงของผู้กระทำ โดยอาศัยสติปัญญา ที่มีเหตุผลของมนุษย์ที่จะสามารถตัดสินความดี ความชั่วได้ และพระเจ้าจะไม่ทรงบังคับให้มนุษย์กระทำสิ่งต่าง ๆ เพราะพระองค์ทรงสร้างให้มนุษย์มีสติปัญญาและเสรีภาพในการกระทำสิ่งต่าง ๆ มนุษย์จึงกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยความสมัครใจของตน ผลจากการกระทำของมนุษย์ก็จะส่งผลให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ทั้งในระยะเวลาอันสั้น และระยะยาว ตามแต่ว่าจะเกิดไปในทางที่ดีและทางที่ไม่ดี
1.3.2 การกระทำที่ถูกบังคับ (Involuntary actions) หมายถึง การกระทำที่ไม่เป็นอิสระ จากการไม่เกิดจากเจตจำนงของผู้กระทำ แต่เป็นปัจจัยภายนอกที่กระทำหรือถูกผู้อื่นบังคับให้กระทำ โดยที่ผู้กระทำไม่ยินยอมตามความสมัครใจนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็อาจจะดีและไม่ดี แตกต่างกันไปตามการกระทำที่ทำขึ้น แต่การกระทำประเภทนี้จะไม่ออกมาจากเสรีภาพที่แท้จริงของผู้กระทำ ในทางจริยธรรมถือว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพโดยผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นไม่อาจตัดสินใจในการกระทำสิ่งนั้น ๆ ด้วยตนเอง

2. ภัยพิบัติ : ความบกพร่องทางธรรมชาติ, มนุษย์กระทำ หรือ พระเจ้าสร้างขึ้น

ในปัจจุบันมนุษย์ได้รับผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่มนุษย์ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า มันจะเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร ที่ใด กับใคร ดังจะเห็นจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น สึนามิ พายุนากีส์ และแผ่นดินไหว 8.0 ริกเตอร์ เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มนุษย์หลายคนละทิ้งพระเจ้า และไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ในเมื่อบางคนกระทำความดีมาตลอด แต่ทำไมจึงมาเกิดสิ่งที่เลวร้ายกับตนเช่นนี้
ตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส การเกิดขึ้นของเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องในหลาย ๆ ด้าน ถ้ามองจากความบกพร่องทางธรรมชาติ เหตุการณ์นี้ก็เป็นการบกพร่องอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดได้ เป็นความบกพร่องทางธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ของแผ่นเปลือกโลก นักวิทยาศาสตร์และภูมิศาสตร์ได้ให้ความเห็นว่าการเกิดขึ้นของภัยพิบัติในปัจจุบันนั้นไม่สามารถคาดเดาความรุนแรงได้เลย ดังนั้นการป้องกันจึงไม่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์
มนุษย์เป็นผู้กระทำให้เกิดภัยพิบัติหรือ ถ้าจะกล่าวว่าเป็นความชั่วร้ายที่มนุษย์ทำขึ้นก็อาจจะใช่ เพราะมนุษย์ได้กระทำให้ธรรมชาติเสียระบบ เช่น การเทน้ำเสียลงในแม่น้ำ การใช้สารเคมีก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ การใช้พลังงานนิวเคลียร์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและเบาบ้างตามผลที่มนุษย์ได้กระทำต่อธรรมชาติที่ตนเองต้องพึ่งพาอาศัย
สุดท้าย เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกิดการสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดกับคนที่ตนเองรักและรักตนเอง ก็จะโทษว่าพระเจ้าลงโทษ และไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนเองรัก ทั้งที่ตนก็ทำความดีมาตลอด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยที่จะมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เช่น การช่วยเหลือกัน การรู้จักแบ่งปันกัน และการรู้จักรักคนที่เรารักมากยิ่งขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มนุษย์ไม่ได้มองเห็นว่ามันเกิดขึ้น เพราะว่ายังรู้สึกสูญเสียกับสิ่งที่ขาดหายไปอยู่นั่นเอง

3. สรุปแนวความคิด
นักบุญโทมัส อไควนัส ได้ให้คำอธิบายปัญหาความชั่วร้ายที่ค่อนข้างชัดเจน ท่านได้ให้คำจำกัดความของความชั่วร้ายไว้ว่า “ความชั่วร้ายคือการขาดความดีของสัต” การขาดความดีของสัต คือ การขาดธรรมชาติที่สัตควรจะมี ควรจะเป็น และควรจะได้และควรจะทำ ความชั่วร้ายไม่ได้มีอยู่ด้วยตัวเองอย่างชัดเจน แต่ความชั่วร้ายเกิดขึ้นมาเมื่อความดีหรือธรรมชาติที่แท้จริงในสัตขาดหายไป แต่เมื่อธรรมชาติของสัตนั้นกลับคืนมาความชั่วร้ายก็สูญสิ้นไป ความชั่วร้ายมีอยู่ในลักษณะของด้านลบเท่านั้น ไม่ได้มีอยู่เพราะมันจำเป็นต้องมีอยู่ แต่ความชั่วร้ายมีอยู่โดยบังเอิญ เช่น การเจ็บป่วยอาจจะเป็นเพราะการรักษาสุขภาพที่ไม่ดี การทำงานหนักเกินไปหรือด้วยเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ร่างกายต้องป้องกันตนเอง ด้วยอาการเจ็บป่วย แต่เมื่อกินยาและพักผ่อนอย่างเพียงพออาการเจ็บป่วยเหล่านั้นก็จะหายไป หรือว่า ในการกระทำชั่วของมนุษย์ เป็นเพราะมนุษย์ขาดเหตุผลในการพิจารณาสิ่ที่ดีและสิ่งที่ชั่วร้าย ตามเจตจำนงเสรีที่มนุษย์มี
นักบุญโทมัส อไควนัส มองว่า ความชั่วร้ายต่าง ๆ นั้น พระเจ้าทรงอนุญาต ให้มีในจักรวาล ก็เพื่อให้มนุษย์ได้ค้นพบความดีสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นความชั่วร้ายในแบบใด มนุษย์จะค้นพบว่าสิ่งต่างที่มนุษย์มองเห็นในโลกนั้น ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง รวมถึงมนุษย์ด้วยที่ไม่อาจจะสมบูรณ์เท่าพระเจ้า
นักบุญโทมัส อไควนัส ได้อธิบายเพิ่มเติมต่อจากนักบุญออกัสตินว่า การมีความบกพร่อง กล่าวคือ ความชั่วหรือความไม่สมบูรณ์ต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งดี เพราะจะทำให้มนุษย์มองเห็นความดี ความสมบูรณ์เป็นสิ่งจำเป็น และความดี ความสมบูรณ์จะได้เด่นชัดขึ้น มิเช่นนั้นแล้ว ศีลธรรมจะไม่มีความหมาย เพราะถ้ามีแต่ความดี ความสมบูรณ์แล้ว มนุษย์ก็จะไม่รู้จักสิ่งที่เป็นบ่อเกิดของความทุกข์ยากต่างๆ มนุษย์ต้องเปรียบเทียบ อาศัยความบกพร่อง ความสมบูรณ์ เมื่อมนุษย์เป็นโทษของความชั่ว มนุษย์จึงเห็นคุณค่าของความดีเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าไม่มีความชั่ว ความบกพร่องแล้ว มนุษย์จะไม่รู้ว่าความดีและความสมบูรณ์คืออะไร ความสมบูรณ์และเป็นสิ่งที่ดีสูงสุดก็คือพระเจ้า ผู้ทรงกำหนดให้ทุกสิ่งเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์

หนังสืออ้างอิง

เดือน คำดี.ปัญหาปรัชญา.กรุงเทพฯ:โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.2530
สลัน ว่องไว.ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาความชั่วร้ายตามแนวคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส.
นครปฐม:วิทยาลัยแสงธรรม.2547
สมเกียรติ จูรอด.ความชั่วร้ายตามแนวปรัชญากับการปรับเปลี่ยนมุมมองของคนในปัจจุบัน.นครปฐม:วิทยาลัยแสงธรรม.2540

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Ment หน่อยก็ดี