วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

วิจารณ์หนังสือประเภทสังคม เรื่อง อินแปง : ตัวอย่างเกษตรยั่งยืน เพื่อให้มีกินตลอดชีวิต

วิจารณ์หนังสือประเภทสังคม เรื่อง อินแปง : ตัวอย่างเกษตรยั่งยืน เพื่อให้มีกินตลอดชีวิต

เขียนโดย เสรี พงศ์พิศ
พิมพ์ครั้งที่ 3 พิมพ์ที่ เจริญวิทย์การพิมพ์
ราคา 120 บาท จำนวนหน้า 73 หน้า
วิจารณ์โดย : ปลายจันทร์
อิ น แ ป ง : ตัวอย่างเกษตรยั่งยืน เพื่อให้มีกินตลอดชีวิต

การพัฒนาจากอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตของประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อะไรคือตัวชี้วัดความก้าวหน้า และสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” ในปัจจุบัน
หนังสือชื่อ “อินแปง” เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ คืออีกความคิด ความคำนึงหนึ่ง ที่สังคมไทยควรหันกลับไปมองในสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา”
“ชาวอินแปง” คือ กลุ่มชนหนึ่งที่หันกลับมาทบทวนชีวิตของตน แสวงหาสิ่งที่ตนเองทำหล่นหายไประหว่างทางการดำเนินชีวิตของพวกเขา และเริ่มต้นสิ่งที่ตนเองมีอยู่และสิ่งที่ตนเองเป็น โดยไม่ได้ก้าวตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ชาวอินแปงถือเอา ชีวิตคือการศึกษา และการศึกษาคือชีวิต ไม่ได้แยกเรื่องทั้งสองออกจากกัน ศึกษาให้รู้จักการอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูล ศึกษาให้สร้างเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษาให้เห็นแก่ตัวน้อยลง และเห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น เป็นตัวอย่างของการศึกษาที่ถูกต้อง
วิธีคิดของอินแปง คือ ทำอย่างไรจึงจะพึ่งพาตนเองได้ เริ่มจากการกลับคืนสู่รากเหง้า ซึ่งไม่ใช่คืนสู่อดีต แต่หมายถึงการสืบค้นหาคุณค่าของอดีตและนำมาประยุกต์กับปัจจุบันให้สมสมัย ตอบให้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะ “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” และ “พออยู่พอกิน” แม้ไม่ร่ำไม่รวยแต่มีชีวิตที่มั่นคง มีสวัสดิการ
“อินแปง” เป็นปรัชญาชีวิตที่ชวนให้คิดต่อและแสวงหาคำตอบของตนเองไปด้วย ทำให้เห็นถึงคุณค่าและความหมายของชีวิตที่เป็นอยู่ ว่าเป็นสิ่งสวยงามและน่าค้นหามากแค่ไหน ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่า การจะดำเนินชีวิตให้มีความสุขในทุกๆ วัน คือการทำให้คนรอบข้างที่อยู่กับเรามีความสุข ดังคำถามที่ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ถามชาวบ้านคนหนึ่ง ว่ากำไรของการทำเกษตรของอินแปง คืออะไร แล้วชาวบ้านคนนั้นได้ตอบท่านว่า “อาจารย์ครับ กำไรของพวกผมอยู่ที่ความสุขของผู้อื่น”
เพราะชีวิตที่มีความสุขเฉพาะทางด้านร่างกาย แต่ไม่ได้มีความสุขทางด้านจิตใจ และมีจิตวิญญาณแห่งความรักต่อตนเองและเพื่อนพี่น้อง ก็ไม่ใช่การมีความสุขที่แท้จริงเหมือนในอุดมคติของมนุษย์ได้เลย
การพัฒนาก็เช่นเดียวกัน ถ้ามุ่งพัฒนาเพียงด้านวัตถุ ความพึงพอใจ ความต้องการต่อความอยาก การมีเงินมาก การมีบ้านหลังใหญ่โต โดยไม่ได้มองไปถึงการพัฒนาด้านจิตใจและศีลธรรม จริยธรรม สิ่งต่าง ๆ ซึ่งมนุษย์กำลังค้นหา ก็ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง
นี่คือมุมมองความคิดเห็นของชาวอินแปง บอกเล่าผ่านปลายปากกาของ ดร.เสรี พงศ์พิศ เป็นชีวิตแห่ง ความพอเพียง มีกินมีใช้ ทำให้ชีวิตของคน ๆ นั้นสุขกาย สุขใจไปตลอดชีวิต
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสไว้ว่า
“การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญเลย ขอให้มีกินมีใช้และมีชีวิตอย่างพอเพียงก็พอแล้ว”

ปรัชญาความรัก

ปรัชญาความรัก

จากเรื่อง SYMPOSIUMหนังสือในชุดปรัชญาของ เพลโต
ดร. พินิจ รัตนกุล แปลวิจารณ์หนังสือประเภทปรัชญา เรื่อง “ปรัชญาความรัก”
จากเรื่อง Symposium หนังสือในชุด ปรัชญาของ เพลโต
เขียนโดย เบนจามิน โจเวตต์ (Benjamin Jowett)
แปลโดย ดร.พินิจ รัตนกุล
สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์
จำนวนหน้า 124 หน้า ราคา 95 บาท
วิจารณ์โดย : ปลายจันทร์
ปรัชญาความรัก

“ความรักคือความสุข มักจะมาพร้อมกับความทุกข์ สองสิ่งซึ่งเคียงข้างกันเสมอ
แต่ความจริงของชีวิตคือความสงบ สิ่งเดียวที่มนุษย์ไขว่คว้าอยู่เสมอ”


มนุษย์ได้ให้นิยามคำว่า “ความรัก” ไว้หลากหลาย ตามมุมมองความคิดของแต่ละคน และเห็นว่าความรักในแบบของตนเป็นความรักที่แท้จริง ความเป็นจริงของความสุขของชีวิตมนุษย์ที่ต้องการค้นหาคืออะไร ความรักคืออะไร มนุษย์สามารถมีความรักได้หรือ หรือว่า มนุษย์มีเฉพาะสติปัญญาเพียงเพื่อจะเข้าใจ และแยกแยะในสิ่งต่าง ๆ ว่าถูกหรือผิดเท่านั้น มนุษย์สามารถอยู่ได้โดยปราศจากความรักได้หรือ แล้วถ้ามนุษย์ควรจะมีความรัก ความรักควรจะเป็นเช่นไร อะไรเป็นมาตรการตัดสินของคำว่า “ความรัก” ปรัชญาความรักของมนุษย์แต่ละคนเป็นสากลเหมือนกันหรือ หรือว่าเป็นความรักตามแต่ที่ใจของตนคิด มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการสิ่งที่ตนเองหวังไว้ แม้ว่ามนุษย์จะมีอยู่ แต่ก็ต้องการมีและเป็นในสิ่งที่ตนเองยังไม่มี ความรักก็เช่นกันมนุษย์ยังต้องการค้นหาความหมายที่แท้จริงอยู่เสมอในทุกช่วงชีวิตที่มีอยู่ เพราะความรักคือความสุข มักจะมาพร้อมความทุกข์ สองสิ่งซึ่งเคียงข้างกันเสมอ จากการที่มนุษย์มีชีวิตในโลกนี้
หนังสือ “ปรัชญาความรัก” ซึ่ง ดร.พินิจ รัตนกุล ได้แปลจากเรื่อง ซิมโพเซียม (Symposium) หนังสือในชุดปรัชญาของ เพลโต จากฉบับภาษาอังกฤษของ เบนจามิน โจเวตต์ (Benjamin Jowett) ได้พูดถึงบทสนทนาซึ่งนักปรัชญาชื่อ เพลโต ได้เขียนขึ้น เพื่อต้องการให้คำนิยามของคำว่า “ปรัชญาความรัก” โดยบอกเล่าผ่านตัวแสดง ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยของเพลโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โสเครตีส” ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน เป็นตัวเอกในเรื่อง เพื่อต้องการให้เกียรติในความรู้ที่อาจารย์ของท่านได้สอนวิชาต่าง ๆ แก่ท่าน.ในช่วงชีวิตที่ท่านอยู่บนโลกนี้
คำว่า ซิมโพเซียม (Symposium) มีความหมายว่า การชุมนุมเลี้ยงอย่างเอิกเกริกของกรีกสมัยโบราณ ซึ่งมีการดื่มสังสรรค์และแสดงสติปัญญาความรู้ มีบุคคลหลายคนถกเถียงกันด้วยเรื่องความรัก ว่าปรัชญาความรักควรจะเป็นเช่นไร เป็นเรื่องราวที่ค้นหาเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว แต่เรื่องความรักก็ยังเป็นการค้นหาสำหรับมนุษย์อยู่ทุกยุคเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความต้องการความเข้าใจในความคิดของนักปรัชญาสมัยเริ่มแรกว่าพวกท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อนำมาประยุกต์เข้ากับชีวิตของตนเป็นปรัชญาชีวิตของตน จะสังเกตเห็นว่าในปัจจุบัน ความรักของมนุษย์เป็นความรักที่อยู่เพียงเรื่องของความสุขของร่างกาย การตอบสนองตามความต้องการของตน แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม ที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งจะสามารถเข้าใจในความรักได้โดยสติปัญญาที่ปราศจากการสัมผัสความรักโดยตรง
เพลโตได้เขียนหนังสือเล่มนี้โดยใช้การเรียงลำดับความคิดความสำคัญจากน้อยไปหามาก จากดีน้อยไปสู่ความคิดที่ดีมาก โดยใช้ตัวแสดงต่าง ๆ ซึ่งได้เรียงลำดับไว้อย่างดีมาก เนื้อหาในหนังสือ ในส่วนที่เป็นคำนำเรื่อง ซึ่งประกอบไปด้วย ประวัติของเพลโต ลักษณะของปรัชญาเพลโต และวิเคราะห์บทสนทนาเรื่องซิมโพเซียม เป็นการเกริ่นนำเข้าสู่เนื้อเรื่องของบทสนทนาได้อย่างดี และที่ทำให้เข้าใจในเรื่องซิมโพเซียมได้มากยิ่งขึ้น เรื่องย่อ และข้อควรสังเกตของหนังสือเล่มนี้ ได้อธิบายได้อย่างมีขั้นตอนและกระชับ ได้ใจความ เหมาะที่จะอ่านและติดตามเรื่องราวในบทสนทนาของเพลโตต่อไปและง่ายขึ้น
เนื้อหาของบทสนทนาเป็นการสนทนาแบบโต้ตอบซึ่งเป็นการแสวงหาความรู้ที่สำคัญของเพลโต ทำให้ความคิดของผู้ร่วมสนทนาได้ความรู้อย่างกระจ่างมากขึ้น ในบทสนทนาแต่ละเรื่องเพลโตนำโลกสองโลกมาประสานกัน คือโลกของนามธรรมที่แสดงให้เห็นด้วยหัวข้อและเนื้อหาของการสนทนา และโลกของรูปธรรมที่แสดงให้เห็นในลักษณะความเป็นมนุษย์ของผู้ร่วมสนทนาทั้งหลาย ซึ่งผู้แปลได้เขียนไว้
ข้าพเจ้าเห็นว่าในหนังสือนี้ได้ให้คุณค่าของการจะเข้าใจปรัชญาได้อย่างลึกซึ้ง โดยเชื่อว่า การสนทนาโต้ตอบกันจริง ๆ เป็นวิธีการสอนปรัชญาที่มีคุณค่ามาก นอกจากจะเรียนจากตำราเรียนแล้ว ซึ่งการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ ในปัจจุบันก็ควรจะเป็นในรูปแบบของการทำความเข้าใจโต้ตอบระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ให้ความรู้แสดงออกมาทางความคิด ความเข้าใจ ด้วยเหตุผล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผู้แปลหนังสือได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเป็นอย่างดี
สำหรับข้าพเจ้า เมื่อได้อ่านเรื่องสรุปย่อของหนังสือเล่มนี้แล้ว มีความรู้สึกที่ต้องการค้นคว้าต่อไปว่า เนื้อเรื่องของการสนทนาคงจะยิ่งเข้มข้นและให้ข้อคิดต่าง ๆ มากมาย เพราะว่าในเรื่องย่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุนทรพจน์ของ อริสโตเดมัส เฟดรัส พอไซเนียส อรีซีมากัส อริสโตเฟนีส อกาธอน อัลซิไปดิส และโสเครตีส ได้ให้ความคิดสะท้อนเรื่องราวความรักในรูปแบบต่าง ๆ จากมนุษย์ที่เข้าใจในความรักน้อยที่สุด ไปสู่มนุษย์ที่เข้าใจในความรักมากที่สุด เพลโตได้เรียงลำดับของความคิดเรื่อง ความรัก ไว้ให้ผู้อ่านได้คิดไตร่ตรองไปตามเรื่องราว โดยอาศัยความรักในรูปแบบที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมมาอธิบายตามแนวทางของนักปรัชญา
ท่านได้กล่าวผ่านตัวแสดงโสเครตีสว่า ความรักทำให้คนเรามีความสุข เพราะเป้าหมายของความรักคือการได้ครอบครองสิ่งที่ดีงามตลอดไป ทำให้บุคคลนั้น ๆ สร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา โดยได้แบ่งแยกความรักออกจากวัตถุของความรัก ความรักที่แท้จริงคือความดีงามและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนโลกนี้เลย ในการเข้าใจ แต่เป็นจิตใจของคน ๆ นั้นที่แสวงหาโดยไม่ผูกพันกับวัตถุของความรักในโลก ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ชื่อเสียง เกียรติยศ ความดีงาม ศิลปะต่าง ๆ กฎหมายและการสอนหนังสือ เพราะความรักที่สมบูรณ์คือการได้ครอบครองสิ่งที่ดีงามและความดี
ส่วนในเนื้อหาของบทสนทนาจริง ๆ นั้น ผู้แปลได้แปลเนื้อหาโดยไม่ได้จัดรูปแบบของวรรคตอน ระหว่างบทสนทนาและความคิดวิเคราะห์ของตนเข้าไป จึงทำให้เกิดความสับสนระหว่างผู้สนทนาในเนื้อหา และทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน เข้าใจยาก และเกิดความคิดที่แตกไปจากเรื่องย่อที่เกริ่นนำไป
และในบทเรื่องย่อผู้แปลได้นำเรื่องของความใคร่ที่มนุษย์ทุกคนหลงไปกับเรื่องนี้มาใช้อธิบายว่า ความใคร่นั้นมีแต่จะทำให้คนรักของเราไม่มีความสุข คือมีความต้องการทางเพศเพื่อตอบสนองสิ่งที่ตนต้องการเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้หัวใจในการจะเข้าใจกันด้วยความรัก ตรงจุดนี้ได้ให้ข้อคิดอย่างดีสำหรับวัยรุ่นที่กำลังหลงระเริงไปกับอารมณ์ของตน ไม่ได้หยุดคิดทบทวนในชีวิตถึงความรักที่แท้จริงเป็นยังไง ทำให้สังคมในทุกวันนี้ มีการหย่าร้างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความรักที่ผู้คนในปัจจุบันให้แก่กันเป็นเพียงการตอบสนองความต้องการของตนเอง ไม่ได้ใช้หัวใจในการเข้าใจคนที่เรามีชีวิตร่วมอยู่ด้วย ดังที่นักปรัชญาชื่อ ปาสกัล กล่าวไว้ว่า “ความรักมีเหตุผลของตน ซึ่งเหตุผลไม่สามารถเข้าใจได้” นั้นคือการใช้หัวใจที่จะเข้าใจผู้อื่นไม่ใช่ใช้เหตุผลในการเข้าใจผู้อื่น เพราะหัวใจเป็นความลึกซึ้งที่สัมผัสได้ด้วยความรักที่มีต่อกัน
ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ได้ให้ข้อคิดในมุมมองมุมหนึ่งเท่านั้น เฉพาะในเรื่องของความรักที่มนุษย์ควรมีและควรเป็น แต่ได้ให้ให้บทวิเคราะห์ที่จะสามารถเข้าใจในสภาพการณ์ปัจจุบันได้เลย เพราะความรักของมนุษย์ มนุษย์เป็นผู้เลือกว่าจะมีความรักหรือไม่ ซึ่งความรักก็คือความสุข ความดีงาม แต่บ่อยครั้งความรัก ก็มีทั้งความทุกข์ตามมาด้วยเช่นกัน แล้วอะไรละคือสิ่งที่มนุษย์แสวงหามากที่สุด
ชีวิตของมนุษย์จะมีคุณค่าและความหมายได้ ก็ต้องมีทั้งความรัก ความเศร้า ความทุกข์ ความสุข ปนเปกันไป เพราะชีวิตคือการค้นหาความหมายที่แท้จริงสำหรับตนเอง ซึ่งทั้งชีวิตอาจจะพบกับสิ่งที่หวัง แต่บางครั้งอาจหลงลืมในความรักที่แท้จริงที่ให้กับตนและให้กับคนอื่น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่ดีงามกำลังหมดไปจากชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน แม้จะมีความรู้มาก แม้จะมีการศึกษาดี ฐานะดี ร่ำรวย ยากจน แต่ถ้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรักที่อยู่ในตนเอง แล้ว ความรักที่จะมอบให้แก่ผู้อื่นนั้นคงยากกว่าการกระทำอย่างแน่นอน เพราะเมื่อตนเองไม่มี จะมอบสิ่งที่ตนเองไม่มีให้ผู้อื่นได้อย่างไร
แท้ที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นความรัก ความสุข หรือ ความทุกข์ที่มีอยู่ ก็ยังหาความแน่นอนไม่ได้ เพราะความจริงของชีวิตคือความสงบ สิ่งเดียวที่มนุษย์ไขว่คว้าอยู่เสมอ เมื่อมีความสงบทางจิตใจ ร่างกายก็สงบปราศจากกิเลสตัณหา ทำให้หัวใจของมนุษย์มีความหมายและคุณค่ายิ่งกว่าการค้นหาความรัก หัวใจของมนุษย์ตามอุดมคติของชีวิตคือการได้มาซึ่งความสงบสุข สันติ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ซึ่งปรัชญาความรักนั้นอธิบายไม่ได้ในเรื่องของหัวใจที่มีเหตุผลของมนุษย์นั้น ๆ

ชี วิ ต ที่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดของศิษย์พระคริสต์ : เ ป า โ ล สะท้อนชีวิตโดย : ปลายจันทร์

ชี วิ ต ที่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดของศิษย์พระคริสต์ : เ ป า โ ล

“ ชี วิ ต คือการเปลี่ยนแปลงจากช่วงชีวิตหนึ่งไปสู่อีกช่วงชีวิตหนึ่ง ชีวิตคือการย่ำอยู่กับที่ในสิ่งที่ตนพอใจและเป็นอยู่ ชีวิตคือการตามหาอุดมคติตามที่ตนได้รับการปลูกฝังมาครั้งเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ ชีวิตคือการแสวงหาความสุขตามสิ่งที่ตนพึงพอใจ ทั้งถูกหรือผิดศีลธรรม”
ชีวิตคืออะไร? เกิดมาเพื่อสิ่งใด? แล้วจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตมนุษย์อยู่แห่งใด? คำถามในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ยังเป็นคำตอบที่มนุษย์ได้ค้นหาเรื่อยมาตลอดช่วงชีวิต เมื่อเป็นเช่นนี้ชีวิตจึงเป็นชีวิตที่ต้องท้าทายให้ค้นหาความจริงที่เป็นความสุขในชีวิตของแต่ละคน อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะค้นพบความสุขในชีวิตได้หรือไม่ แล้วความสุขในชีวิตนี้มีจริงหรือไม่ ผู้หนึ่งที่ค้นหาความจริงที่เป็นความสุขในชีวิต และคิดว่าสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่นั้นคือสิ่งที่ใช่สำหรับตนเอง “เซาโล แห่ง ทาร์ซัส” “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิว เกิดที่เมืองทาร์ซัส ในแคว้นซีลีเซีย แต่เติบโตในกรุงเยรูซาเล็ม กามาลิเอลเป็นอาจารย์สอนข้าพเจ้าให้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด”(กจ.22:3) ท่านหวังว่าการปฏิบัติศาสนาที่เคร่งครัดตามพระบัญญัติของพระเจ้าที่มอบให้แก่โมเสสเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าพอพระทัยและจะทำให้ท่านมีความสุขกับสิ่งที่ท่านได้ปฏิบัติ “ข้าพเจ้าได้รับพิธีเข้าสุหนัตเมื่อเกิดมาได้แปดวัน เป็นเชื้อสายชนชาติอิสราเอลจากตระกูลเบนยามิน เป็นชาวฮีบรูจากชาวฮีบรู ในด้านธรรมบัญญัติ เป็นชาวฟาริสี ในด้านความกระตือรือร้น เป็นผู้เบียดเบียนพระศาสนจักร ในด้านความชอบธรรมตามธรรมบัญญัติ ไม่มีสิ่งใดจะตำหนิข้าพเจ้าได้”(ฟป.3:5-6) การเบียดเบียนคริสตชนที่เชื่อใน “เยซูแห่งนาซาเร็ธ” เป็นภารกิจที่เซาโลได้กระทำ
“ข้าพเจ้าเบียดเบียนถึงตายผู้ที่ดำเนินตามวิถีทางของพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าจังกุมทั้งชายและหญิงจองจำไว้ในคุกและนำกลับมากรุงเยรูซาเล็มเพื่อลงโทษ”(กจ.22:21) เพราะเห็นว่าความเชื่อเช่นนี้เป็นการทำผิดพระบัญญัติพระเจ้าในพันธสัญญาเดิมสมัยโมเสส ทำให้เซาโลเริ่มการทำลาย เบียนเบียน ข่มเหง และเข่นฆ่า ผู้ที่เชื่อในเยซูแห่งนาซาเร็ธ
สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้เบียดเบียนคริสตชนที่ชื่อ “เซาโล” บนเส้นทางไปดามัสกัส เกิดอะไรขึ้นระหว่างทางที่ท่านจะไปข่มเหง เบียดเบียนและเข่นฆ่าคริสตชนที่ดามัสกัส ท่านพบกับพระคริสตเจ้าระหว่างทางไปเบียนเบียน เมื่อเห็นนิมิตพระเยซูเจ้า เซาโลถามว่า “พระเจ้าข้า พระองค์คือใคร” และได้รับคำตอบว่า “เราคือเยซู ซึ่งท่านกำลังเบียดเบียน”(กจ.9:5) ทำให้ท่านตามืดบอดไปมองสิ่งต่าง ๆ ไม่เห็น สภาพจิตใจของเซาโลคงต้องการหลุดออกมาจากความมืดบอดนี้ “เซาโลจึงลุกขึ้นจากพื้นดิน ลืมตา แต่ก็มองไม่เห็นสิ่งใด คนอื่นจึงจูงมือเขาพาเข้าไปในเมืองดามัสกัส เซาโลมองไม่เห็นสิ่งใดเลยเป็นเวลาสามวัน ทั้งไม่ได้กิน ไม่ได้ดื่ม”(กจ.9:8-9) และเริ่มสู่การมีชีวิตใหม่ที่ตนเองได้พบกับพระเยซูคริสตเจ้า พระคริสตเจ้าได้ทำให้เซาโลที่ได้เบียดเบียนเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนจากความต่ำต้อยในความเชื่อที่เห็นเพียงสิ่งภายนอก สู่ความเชื่อที่สามารถสัมผัสได้ด้วยหัวใจ “เราแต่งตั้งท่านให้เป็นแสงสว่างส่องนานาชาติ เพื่อท่านจะได้นำความรอดพ้นไปจนสุดปลายแผ่นดิน” (กจ.13.47) นำไปสู่ชีวิตที่มีพระคริสตเจ้าทรงนำทางชีวิต เปลี่ยนจากเซาโล ผู้เบียดเบียน เป็น “เปาโล ศิษย์พระคริสต์”
จุดหักเหของชีวิตที่เปาโลพบ เมื่อพระจิตเจ้าได้เปิดตา เปิดหัวใจที่แข็งกระด้างของท่านที่มีต่อพระเยซูคริสตเจ้าให้ได้รับพลังในการประกาศข่าวดีของพระองค์แทนการเบียดเบียนอย่างที่เคยทำมา เปาโลได้พบว่าความจริงในสิ่งต่าง ๆ ได้รับการไขแสดงเปิดเผยโดยพระจิตเจ้า ให้ท่านมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด


พระคริสตเจ้าเป็นพระแมสซิยาห์ และชีวิตคริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

เปาโลได้พบว่าพระคริสตเจ้าเป็นพระแมสซิยาห์ที่พระเป็นเจ้าได้ทรงสัญญาไว้ว่าจะส่งมาไถ่กู้บาปของมนุษยชาติในพันธสัญญาเดิม ซึ่งท่านเองได้ค้นหามานานตลอดช่วงชีวิตที่หลงทางอยู่นั้น แต่ก่อนท่านคิดเสมอว่า คริสตชนก็คือศัตรูของความเชื่อของตน จนได้ค้นพบว่า ชีวิตคริสตชนก็คือชีวิตพระคริสตเจ้า “เราคือเยซูที่ท่านกำลังเบียดเบียน”(กจ.9:5)
พระศาสนจักรจึงเป็น “ร่างกาย” ของพระคริสตเจ้า เป็นพระคริสตเจ้าที่อยู่ในธรรมชาติมนุษย์ต่อไปในโลก เป็นเจ้าสาวที่รักของพระคริสตเจ้า
สิ่งที่บรรดาประกาศกได้ประกาศ ได้ให้รอคอยพันธสัญญาเดิม “พันธสัญญา” ที่รอคอยพระผู้ช่วยให้รอด เพราะความเข้าใจนี้ท่านยอมรับต่อหน้ากษัตริย์อากริปปา และอันที่จริงธรรมล้ำลึกเรื่องพระเยซูเป็นพระแมสซิยาห์นั้น กลับเป็นพื้นฐานความเชื่ออันลำซึ้งของท่าน และท่านอุทิศชีวิตทั้งหมดไว้กับ “ความจริง” นี้
“บัดนี้ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้รับทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ความทรมานของพระคริสตเจ้ายังขาดสิ่งใด ข้าพเจ้าก็เสริมให้สมบูรณ์ด้วยการทรมานในกายของข้าพเจ้า เพื่อพระกายของพระองค์ อันได้แก่พระศาสนจักร ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้พระศาสนจักรนี้ตามภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบให้ เพื่อจะได้ประกาศพระวาจาของพระเจ้าให้แก่ท่านอย่างสมบูรณ์”(คส.1:24-25)

ความมืดบอดเป็นการยอมรับในความผิดบาป

ความมืดบอดทางด้านร่างกาย ทำให้จิตวิญญาณของเปาโลกลับสำนึกในความผิดบาปที่เคยทำมา ท่านยอมรับความผิดพลาดของชีวิตและรู้สึกเสียใจในสิ่งที่เคยได้ทำผิดไป “ข้าพเจ้าไม่เข้าใจสิ่งที่ข้าพเจ้ากระทำ สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากทำ ข้าพเจ้ากลับไม่ทำ สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยากทำ ข้าพเจ้ากลับทำ ถ้าข้าพเจ้าทำสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยากทำ ข้าพเจ้ายังยอมรับว่าธรรมบัญญัตินั้นประเสริฐ ดังนั้น จึงไม่ใช่ข้าพเจ้าที่กระทำกิจการนั้น แต่เป็นบาปซึ่งอาศัยอยู่ในตัวข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้ารู้ว่าในตัวข้าพเจ้านั้น ธรรมชาติมนุษย์ของข้าพเจ้าไม่มีความดีอยู่เลย เพราะความปรารถนานั้นมีอยู่แล้ว แต่ขาดพลังที่จะกระทำ เพราะว่าข้าพเจ้าไม่ทำความดีที่ข้าพเจ้าปรารถนา กลับทำความชั่วที่ไม่ปรารถนาจะทำ” (รม.7:14-19)
เมื่อเปาโลได้อยู่ในความเงียบแห่งจิตวิญญาณ มีเวลาได้หยุดคิด ทบทวน ความมืดนั้นกลับกลายเป็นความสว่างที่ทำให้ท่านยิ่งเข้มแข็ง แทนที่จะหมดกำลังเพราะผิดในสิ่งที่ทำไปก่อนหน้านั้น “ยิ่งกว่านั้น เรายังภูมิใจในความทุกข์ยาก เพราะทราบว่าความทุกข์ยากก่อให้เกิดความพากเพียร ความพากเพียรก่อให้เกิดคุณธรรมที่แท้จริง คุณธรรมที่แท้จริงก่อให้เกิดความหวัง ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะพระจิตเจ้าซึ่งพระเจ้าประทานให้เรา ได้หลั่งความรักของพระเจ้าลงในดวงใจของเรา”(รม.5:3-5)
เปาโลยอมรับสภาพแห่งการหลงไปในบาป และต้องการให้พี่น้องคริสตชนอภัยในบาปของตน แม้ว่าจะยากลำบากมากแค่ไหน เพราะท่านรู้ดีว่า เวลาเป็นเครื่องช่วยให้ท่านได้อดทนและรอคอยความหวังว่าพี่น้องจะอภัยในสิ่งที่ท่านได้พลาดไป
“เมื่อเซาโลมาถึงกรุงเยรูซาเล็มแล้ว ก็พยายามเข้าร่วมกับบรรดาศิษย์ แต่ทุกคนกลัวเขา เพราะไม่เชื่อว่า เขาเป็นศิษย์ที่แท้จริง บานาบัสจึงพาเขาไปพบบรรดาอัครสาวก และเล่าให้ฟังว่าเซาโลได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าระหว่างทาง พระองค์ได้ตรัสกับเขา และเขาได้เทศน์สอนอย่างกล้าหาญที่เมืองดามัสกัส เดชะพระนามของพระเยซูเจ้า ตั้งแต่เวลานั้น เซาโลจึงอยู่กับบรรดาศิษย์ ไปมาในกรุงเยรูซาเล็มอย่างอิสระ เทศน์สอนอย่างกล้าหาญ เดชะพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า”(กจ.9:26-28)

ชีวิตที่ผ่านมา คือการเดินทางผิดทั้งหมด

“ก่อนหน้านั้น ข้าพเจ้าเคยพูดดูหมิ่นพระเจ้า ได้เบียดเบียนและกระทำทารุณ”(1 ทธ.1:13) ชีวิตของเปาโลที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการที่ท่านได้ทุ่มเทในสิ่งที่ท่านได้เชื่อและมั่นใจ แต่สิ่งที่เชื่อและมั่นใจก่อนหน้านั้นเป็นการเดินทางผิดทั้งหมด
“ข้าพเจ้าเคยคิดว่า ข้าพเจ้าต้องทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางนามของเยซู ชาวนาซาเร็ธ ข้าพเจ้าทำเช่นนี้ที่กรุงเยรูซาเล็ม ข้าพเจ้ารับมอบอำนาจจากบรรดาหัวหน้าสมณะ ให้จับกุมคริสตชนหลายคนจองจำไว่ในคุก เมื่อเขาถูกพิพากษาประหารชีวิต ข้าพเจ้าก็ลงคะแนนให้ประหารเขาด้วย ข้าพเจ้าเข้าไปในศาลาธรรมต่าง ๆ หลายครั้ง ทรมานเขา บังคับเขาให้กล่าวผรุสวาท ข้าพเจ้าโกรธแค้นบรรดาคริสตชนมาก จึงเบียดเบียนเขาในเมืองต่าง ๆ นอกประเทศอีกด้วย”(กจ.26:9-11)
แต่เมื่อท่านได้ค้นพบกับความเป็นจริงของความเชื่อ ท่านได้เปลี่ยนตนเองจากคนที่คอยข่มเหงและเบียดเบียนคริสตชนกลายมาเป็นชีวิตที่เป็นคริสตชนอย่างสมบูรณ์โดยองค์พระจิตเจ้า “ข้าพเจ้าช่างเป็นคนน่าสมเพชจริง ๆ ใครจะช่วยดึงข้าพเจ้าออกมาให้พ้นจากร่างกายที่จะต้องตายนี้เล่า”(รม.7:24)
ท่านรู้สึกเศร้าใจเสมอที่ระลึกถึงการได้ทำให้คริสตชนที่ท่านเคยเบียดเบียนได้ตายไป เพราะความอวดเก่งของท่าน แต่จากนี้ไปเป็นหนทางใหม่ที่ไม่ใช่การไล่ล่าอีกต่อไป ท่านได้เลือกที่จะเปลี่ยน เส้นทางดำเนินชีวิตใหม่ “แต่สิ่งที่เคยเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าละทิ้ง เพราะพระคริสตเจ้า นับแต่บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งไม่มีประโยชน์อีก เมื่อเปรียบกับประโยชน์ล้ำค่าคือการรู้จักพระคริสตเยซู ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งเป็นปฏิกูล เพื่อจะได้องค์พระคริสตเจ้ามาเป็นกำไร”(ฟป.3:7-8)

เป้าหมายของหัวใจคือ พระเยซูคริสตเจ้า

เปาโลได้ตั้งเป้าหมายชีวิตของตน ตั้งแต่ยังเด็กว่าต้องเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาตามแบบอย่างของบรรพบุรุษ คอยสนใจต่อการอ่านพระคัมภีร์ การภาวนาแบบฟาริสี แต่เมื่อท่านได้พบกับพระคริสตเจ้า ชีวิตทั้งชีวิตและเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ก็คือ การรักพระคริสตเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจ ถึงแม้ว่าจะตายจากการประกาศข่าวดีของพระองค์ก็ตาม “การมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสตเจ้า”(ฟป.1:21)
ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้รักที่ท่านมีต่อพระคริสตเจ้าลดน้อยลงได้เลย “ใครจะมาพรากเราจากความรักของพระคริสตเจ้าได้”(รม.8:35)
“เราทนทุกข์ทรมานรอบด้าน แต่ไม่อับจน เราจนปัญญา แต่ก็ไม่หมดหวัง เราถูกเบียดเบียน แต่ก็ไม่ถูกทอดทิ้ง เราถูกตีล้มลง แต่ไม่ถึงตาย เราแบกความตายของพระเยซูเจ้าไว้ในร่างกายของเราอยู่เสมอ เพื่อว่าชีวิตของพระเยซูเจ้าจะได้ปรากฏอยู่ในร่างกายของเราด้วย”(2 คร.4:8-10)
ความทุกข์ยากลำบากในการประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้ากลายเป็นพลังที่ทำให้ท่านยิ่งเข้มแข็งต่อการเผยแพร่พระนามของพระผู้ที่ท่านรักสุดชีวิต แม้กระทั่งร่างกายที่ตนมีก็ไม่ได้คิดเสียดายว่าจะเป็นอย่างไร เพียงเพื่อให้เป้าหมายของชีวิตที่ท่านได้พบ เป็นความรักที่ท่านรักสุดดวงใจ และมั่นใจในความเชื่อที่ตนเองได้ประกาศพร้อมทั้งรักเพื่อนพี่น้องที่ทำงานร่วมกับท่านด้วย “ชีวิตที่ข้าพเจ้ากำลังดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตในความเชื่อถึงพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรักข้าพเจ้า และทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า”(กท.2:20)
“ข้าพเจ้าขอบคุณพระคริสตเยซู ผู้ประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้า พระองค์ทรงเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นผู้น่าเชื่อถือจึงทรงเรียกให้มารับใช้ แม้ว่าก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าเคยพูดดูหมิ่นพระเป็นเจ้า เบียดเบียนและกระทำทารุณ แต่ข้าพเจ้าก็ได้รับพระเมตตาจากพระองค์ เพราะข้าพเจ้ากระทำไปโดยความไม่รู้ขณะที่ยังไม่มีความเชื่อ พระหรรษทานของพระองค์ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อและรักในพระคริสตเยซูอย่างเหลือล้น”(1 ทธ.1:12-14)
สำหรับเปาโล การเป็นในสิ่งที่ตนเองต้องการนั้นมีค่ามาก และสิ่งที่ตนเองต้องการเป็นคือ การเป็นศิษย์พระคริสต์ที่แท้จริง เป้าหมายของชีวิตในโลกนี้จะมีคุณค่าได้ก็เมื่อยอมรับความทุกข์ทรมานในการประกาศข่าวดีเพื่อพระคริสตเจ้า เพื่อรอคอยความรักที่ยิ่งใหญ่กว่าในโลกหน้า

คริสตชนที่แท้จริงคือชีวิตที่มีพระคริสตเจ้า

เปาโลพบว่าคริสตชนที่แท้จริง คือ การมีชีวิตที่มีพระคริสตเจ้าอาศัยอยู่ เมื่อพระคริสตเจ้าอาศัยอยู่ในตนแล้ว ก็ไม่กลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตน เพราะว่าท่านได้เตรียมร่างกายและจิตใจของท่านเพื่อให้พระคริสตเจ้าเข้ามาทำงานให้ตัวท่าน “อาศัยพระธรรมบัญญัติ ข้าพเจ้าจึงได้ตายไปจากธรรมบัญญัติ เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่สำหรับพระเจ้า ข้าพเจ้าถูกตรึงกางเขนกับพระคริสตเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้ากำลังดำเนินอยู่ในตัวข้าพเจ้า”(กท.2:19)
ความตายหรือการพรากจากไม่ได้ทำให้ท่านสิ้นหวัง ไม่ได้ทำให้ความเชื่อที่เป็นเหมือนไฟที่ร้อนรนเพื่อพระนามพระเยซูคริสตเจ้าหมดไปได้เลย คริสตชนที่แท้จริงในสมัยเปาโล ยึดมั่นและเป็นหนึ่งเดียว มีทุกสิ่ง ทุกอย่างเพื่อแบ่งปัน และร่วมสวดภาวนาด้วยใจร้อนรน มีชีวิตร่วมกันโดยอาศัยพระหรรษทานช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้า พระคริสตเจ้าจะอยู่กับกลุ่มคริสตชน เพราะที่ใดที่มีการภาวนาในนามของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงอยู่ที่นั่น ชีวิตของเปาโลจึงเป็นคริสตชนที่แท้จริงเมื่อท่านได้พบกับพระคริสตเจ้า

ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดของเปาโล เพราะพระคริสตเจ้าได้ทำให้ท่านกลายเป็นศิษย์ที่มีคุณค่าและความหมายต่อคริสตชนอย่างมาก ทุกสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตกลายเป็นบทสอนใจ กลายเป็นพลัง กลายเป็นความเชื่อที่เข้มแข็งมากขึ้น พลังผลักดันของชีวิตที่ท่านได้รับคงไม่ใช่สิ่งที่ออกมาจากตัวท่านเอง แต่เป็นพระเป็นเจ้าที่ได้จัดสรร และเลือกให้ผู้ที่คนอื่นเห็นว่า ต่ำต้อย ไม่มีความหมาย ไม่มีหนทางแห่งความหวังในการจะได้รับรางวัลในโลกหน้าได้ แต่นั้นเป็นสายตาของมนุษย์ที่มองเพียงภายนอก ไม่ได้มองสิ่งที่อยู่ภายใน มองในจิตใจ มองด้วยหัวใจ
หนทางของชีวิตคริสตชน คือการแสวงหาความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงที่ท่านเปาโลค้นพบคือการมีชีวิตและลมหายใจเพื่อพระคริสตเจ้า การเปลี่ยนแปลงของชีวิตของเราแต่ละคนก็ควรจะหันกลับมามองและทบทวนสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าได้ยึดพระคริสตเจ้าเป็นองค์พระเจ้าแห่งความรัก เป็นแบบอย่าง เป็นเป้าหมาย เป็นรูปแบบชีวิตคริสตชน เป็นผู้ช่วยให้รอดในยามทุกข์ เป็นแรงบันดาลใจให้มีความสุขในชีวิตเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่นหรือไม่
คำถามที่มนุษย์รอคอยคือ ความหวังในชีวิต หวังในเรื่องต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงในสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เปลี่ยนจากสภาพเดิม ไปสู่สภาพที่ดีกว่า ความหวังหนึ่งที่มนุษย์ควรหวังและรอคอยด้วยความหวัง ด้วยความเชื่ออันไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา ต่อความวุ่นวายของโลกปัจจุบัน คือ ความหวังในพระคริสตเยซูเจ้า
“ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะพระจิตเจ้าซึ่งพระเป็นเจ้าประทานให้เรา ได้หลั่งความรักของพระเป็นเจ้า ลงในดวงใจของเรา ขณะที่เรายังอ่อนแอ พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อคนบาปตามเวลาที่กำหนด ยากที่จะหาคนที่ยอมตายเพื่อคนชอบธรรม บางครั้งอาจจะมีคนยอมตายแทนคนดีจริง ๆ ได้ แต่พระเป็นเจ้าทรงพิสูจน์ว่า ทรงรักเรา เพราะพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อเรา ขณะที่เรายังเป็นคนบาป บัดนี้ เมื่อเราได้รับความชอบธรรม โดยอาศัย พระโลหิตของพระองค์แล้ว เดชะพระองค์ เราก็ยิ่งจะได้รับความรอดพ้นจากการถูกพระเป็นเจ้าลงโทษ”(รม.5:5-9)
จงเชื่อและมั่นใจเถิดว่า ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีที่สุด ไปด้วยความหวัง รอคอยด้วยใจจดจ่อกับสิ่งที่รอ โดยไม่ปริปาก จะเปลี่ยนชีวิตไปสู่ชีวิตที่มีพระคริสตเจ้าเป็นผู้นำทาง ตามแบบอย่างของศิษย์พระคริสต์ที่ได้เป็นแบบอย่างให้แก่เราแต่ละคน ความฝัน ความหวัง จะกลายเป็นความสุขและความจริง

หนังสืออ้างอิง
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่
สมเกียรติ ตรีนิกร,บาทหลวง.เอกสารประกอบการเรียนวิชาพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่และบทจดหมายในพันธสัญญาใหม่.นครปฐม:วิทยาลัยแสงธรรม.2551
วีณา โกวิทวานิชย์.อัครสาวกเปาโล บุรุษไร้พรมแดน.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อัสสัมชัญ.2551
คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร.นักบุญเปาโล อัครสาวกองค์ที่ 13.กรุงเทพฯ:บริษัทแอ๊ดวานซ์ อินเตอร์ พริ้นติ้ง จำกัด.2550
__________________________.เคล็ดลับความเป็นผู้นำของนักบุญเปาโล.กรุงเทพฯ:บริษัทแอ๊ดวานซ์ อินเตอร์ พริ้นติ้ง จำกัด.2548
คาร์โล เอ็ม.มาณตินี. ประจักษ์พยานของนักบุญเปาโล. กรุงเทพฯ:บริษัทแอ๊ดวานซ์ อินเตอร์ พริ้นติ้ง จำกัด.2551

“คู่มือสะกดใจคน” ชื่อภาษาอังกฤษ “GET ANYONE TO DO ANYTHING”

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “คู่มือสะกดใจคน” ชื่อภาษาอังกฤษ “GET ANYONE TO DO ANYTHING” เป็นผลงานเขียนเล่มที่สองของนักจิตวิทยาชื่อดัง ดร.เดวิด เจ. ไลเบอร์แมน ผู้เขียนหนังสือขายดี “คู่มือจับโกหก” ในหนังสือคู่มือสะกดใจคนเล่มนี้ ดร.ไลเบอร์แมนได้แนะนำเราให้รู้จักกลวิธีและเทคนิคทางจิตวิทยาที่สามารถนำไปสะกดให้ผู้คนทำอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการที่ทำให้ผู้อื่นชอบหรือรักเรา การทำให้ผู้อื่นทำตามที่เราแนะนำ การทำให้ผู้อื่นยกโทษให้เรา การบอกข่าวร้ายโดยที่ไม่ทำให้ใครเสียใจ การทวงเงินหรือของที่ถูกยืมไปโดยปราศจากการทะเลาะเบาะแว้ง การทำให้ผู้อื่นพูดอย่างที่เราคิดจริงๆ การทำให้ผู้อื่นช่วยเหลือเรา ฯลฯ ด้วยสไตล์การเขียนที่เข้าใจง่าย ตรงประเด็นและประยุกต์ใช้ได้ทันที ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือที่ขายดีอันดับหนึ่ง ที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับการจัดอันดับหนังสือขายดีของ The New York Times
ดร.เดวิด เจ. ไลเบอร์แมน คือ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านพฤติกรรมมนุษย์ งานเขียนของเขาได้รับการตีพิมพ์มาแล้วมากกว่า 20 ภาษาทั่วโลก เขาเคยปรากฏตัวในรายการต่างๆ มากกว่าสองร้อยรายการ รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญรับเชิญในรายการโทรทัศน์และวิทยุระดับชาติ เช่น The Today Show, National Public Radio, The View, PBS, The Montel Williams Show รวมทั้ง A&E ดร. ไลเบอร์แมนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านจิตวิทยา และได้คิดค้นเทคนิคด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่รัฐบาลและบริษัทต่างๆในกว่า 20 ประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ในแต่ละส่วนมีบทย่อยๆ รวมทั้งหมด 40 บท โดยแต่ละบทจะครอบคลุมสถานการณ์ในชีวิตจริงที่หลากหลาย เพื่อให้เราได้เรียนรู้วิธีการประยุกต์ใช้เคล็ดลับทางจิตวิทยาเหล่านี้อย่างง่ายดาย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อเราเริ่มคุ้นเคยกับหลักการทางจิตวิทยาเหล่านี้แล้ว เราจะพบว่าเราสามารถนำเทคนิคต่างๆ ไปใช้ได้สำเร็จทุกครั้งในทุกสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่
โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว คนเราย่อมใฝ่หาพวกพ้อง ต้องการสร้างมิตรภาพ และใส่ใจในความรู้สึกของคนอื่น แต่ในบางครั้งก็เป็นการยากสำหรับใครสักคนที่จะก้าวออกไปเพื่อ “ป่าวประกาศ” ตัวตนที่แท้จริงและความรู้สึกของตนเองให้คนอื่นรู้ มีหลายสิ่งที่เข้ามาขวางกั้นความปรารถนาตามธรรมชาติดังกล่าว ความรู้สึกอย่างเช่นความกลัวการถูกปฏิเสธ ความอ่อนแอ ความเห็นแก่ตัว และความอิจฉาริษยา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอารมณ์ที่ซับซ้อน บุคลิกภาพ และความเชื่ออันหลากหลาย ซึ่งล้วนมีส่วนทำให้เราไม่กล้าทีจะก้าวออกไปสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังนั้น เทคนิคทางจิตวิทยาทั้งหลายจึงมีหน้าที่เพียงแค่กระตุ้นเตือนความรู้สึกนึกคิดตามธรรมชาติของคนๆ นั้นให้ปรากฏเด่นชัดขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการพยายามเปลี่ยนแปลงความคิดของใครบางคน เพื่อให้เขาทำตามในสิ่งที่เราต้องการโดยไม่มีเงื่อนไขแต่เป็นเพียงการช่วยให้บุคคลเหล่านั้นได้รับรู้ถึงเรื่องความปรารถนา ที่ฝังลึกอยู่ภายในตัวของพวกเขาเอง
ลองคิดดูว่าการดำเนินชีวิตของเราจะง่ายขึ้นเพียงใด หากเราสามารถคาดเดาและควบคุมผลลัพธ์ของทุกเหตุการณ์ที่เรากำลังเผชิญหน้าได้ และแทนที่จะมานั่งนึกสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เราสามารถนำเอาวิธีการตามหลักจิตวิทยาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลในทันที มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทุกคนไม่ว่าสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม
อะไรคือสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดถ้าหากเราอยากมีชีวิตที่ง่ายขึ้น บางทีเราอาจจะต้องการ รู้วิธีหลีกเลี่ยงการถูกเอาเปรียบหรือการถูกหลอกล่อจนหัวปั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดในชีวิต เราอยากมีความสามารถที่จะยุติข้อขัดแย้งต่างๆ ได้โดยใช้เพียงแค่ประโยคเดียว เข้าใจถึงวิธีการชี้นำ โน้มน้าว และชักจูงให้ผู้อื่นคิดตามที่เราต้องการ รวมทั้งสามารถสร้างมิตรภาพและเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้อื่นที่มีต่อเราในพริบตา กล่าวโดยสรุปก็คือ เราจะทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น เรากำลังจะได้เรียนรู้ถึงวิธีการใช้สุดยอดเทคนิคทางจิตวิทยาเพื่อความสำเร็จในทุกๆ ด้านของชีวิตของเรา
เราจะก้าวเข้าสู่โลกแห่งจิตวิทยาและการจับโกหกผู้อื่น การเปลี่ยนแปลงจิตใจคนหรือการควบคุมสถานการณ์ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างง่ายดาย โดยอาศัยเทคนิคและกลวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อนที่หนังสือได้รวบรวมเอาไว้ให้เราแล้ว
ในหนังสื่อเล่มนี้ เราจะได้พบกับปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อระดับความสนใจของผู้อื่นที่มีต่อเรา เราจะเรียนรู้ว่าการทำให้ผู้อื่นชอบเรา (หรือว่าไม่ชอบเรา) นั้นง่ายนิดเดียว เพียงเราปฏิบัติตามกลวิธีที่ไม่ยุงยากซึ่งมีพื้นฐานมาจากธรรมชาติมนุษย์ เราก็สามารถสร้างมิตรภาพและความสัมพันธ์ให้ยืนยาวได้อย่างง่ายดาย และขอให้เราเข้าใจเสียก่อนว่า นี่ไม่ใช่วิธีการที่จะหลอกล่อให้ผู้อื่นหันมาชอบเรา แต่เป็นการรวบรวมเอาหลักและวิธีการทางจิตวิทยาบางประการมาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อทำให้ผู้อื่นหันมาชอบเราอย่างเป็นธรรมชาติ
เราจะสามารถนำกลวิธีทางจิตวิทยาที่สมบูรณ์แบบที่สุด ไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นอาวุธชิ้นสำคัญของเรา สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด คือ เราควรรู้ไว้ว่าสิ่งที่หนังสือกำลังพูดถึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “กลอุบาย” ที่ใช้ได้บางครั้งกับคนบางคน แต่เป็นกลวิธีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งจะช่วยให้เราเป็นผู้ที่ฉลาดกว่า คิดได้ลึกซึ้งกว่า และตอบโต้ได้ดีกว่ากับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา กลวิธีเหล่านี้ได้ผ่านการคิดค้นมาอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของหลักการทางจิตวิทยาโดยเฉพาะ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์
การทำให้ผู้อื่นชอบเรา รักเรา หรือคิดว่าเราเป็นคนสำคัญ ถ้าเราต้องการจะประสบความสำเร็จในชีวิต บ่อยครั้งที่เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลอื่น และกฎข้อที่หนึ่งสำหรับการทำให้ผู้อื่นทำตามที่เราต้องการก็คือ การทำให้พวกเขาชอบเรา ไม่ว่าเราจะต้องการหาเพื่อนใหม่หรือหาพันธมิตร กลวิธีทางจิตวิทยาเหล่านี้จะแสดงให้เราเห็นทีละขั้นตอนถึงวิธีที่จะทำให้ใครก็ตามคิดว่าเราเป็นคนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เราจะค้นพบวิธีที่ทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นคนที่มีเสน่ห์จนห้ามใจไม่ไหวเลยทีเดียว และเมื่อเราสร้างความสัมพันธ์ได้สำเร็จแล้ว เราจะสามารถประยุกต์ใช้สุดยอดเคล็ดลับเหล่านี้ เพื่อทำให้เราเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบทุกครั้งไป
ถ้าเราอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่เราต้องการ แน่นอนว่าเราต้องการหลีกเลี่ยงจากการถูกหลอกล่อจากการถูกปั่นหัว รวมทั้งการตบตาโดยผู้ที่ไม่ประสงค์ดีกับเรา เราจำเป็นต้องมีความสามารถในการ “มองทะลุจิตใจคน” และบอกให้ได้ว่าใครที่พร้อมจะช่วยเหลือเรา และใครที่พร้อมจะตะครุบเราเป็นเหยื่อ ในหนังสือเล่มนี้เราจะได้เรียนรู้ถึงวิธีการทางจิตวิทยาที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ในทันที หากมีใครบางคนกำลังพยายามจะเอาเปรียบเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงานก็ตาม เราจะไม่รู้สึกว่าตัวเองหมดท่าที่ไปหลงเชื่อคนผิดอีกต่อไป
การที่เราจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่เราต้องการได้จริงๆ นั้น เราจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์นั้นๆ ให้ได้ เนื้อหาในส่วนนี้จะช่วยให้เราทราบถึงวิธีการที่ทำให้เรามีอิทธิพลเหนือผู้อื่น และทำให้พวกเขาคล้อยตามความคิดของเราได้อย่างง่ายดาย เราจะทำให้ใครก็ตามเข้าใจ เห็นชอบ และทำตามในสิ่งที่เราต้องการได้ เราจะได้เรียนรู้เคล็ดลับที่ทำให้คนๆ เดียวหรือทั้งกลุ่มเกิดความไว้วางใจ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามเรา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของคนใดคนหนึ่งหรือทั้งกลุ่มก็ตาม เราจะมีเครื่องมือที่ทันสมัยล้ำยุคที่สุดในการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ เพื่อให้พวกเขาทำตามในสิ่งที่เราต้องการ
ในบางครั้งเราอาจต้องพบกับสถานการณ์ไม่เกี่ยวข้องกับการโน้มน้าวจิตใจผู้อื่น ให้มาอยู่ข้างเดียวกับเรา ตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องแข็งขันกับใครบางคนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเดียวกัน เราจะได้เรียนรู้เทคนิคสุดยอดตามหลักจิตวิทยาที่ทำให้เราเป็นผู้ชนะในทุกเวทีการแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นการแข็งขันเทนนิส การเลื่อนตำแหน่งงานหรือแม้กระทั้งการออกเดท เมื่อใดก็ตามที่เราแข็งขันกับผู้อื่น เราจะเป็นฝ่ายชนะเสมอ ในเนื้อหาส่วนนี้เราจะได้ทราบถึงวิธีการทำให้จิตของเรากลายเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด แล้วเราก็จะกลายเป็นนักรบทางจิตวิทยาที่สมบูรณ์แบบที่สุดอีกด้วย
คงจะดีไม่น้อยทีเดียวใช่ไหมถ้าทุกๆ คนล้วนเป็นคนดีมีน้ำใจเช่นเดียวกับตัวเรา แน่นอนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่ว่าคนบางคนกลับไม่เป็นเช่นนั้น และพวกเขาก็มักจะทำให้ “เรารู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ” ดังนั้น ในหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการแนะนำกลวิธีที่เราสามารถนำไปจัดการกับสิ่งกวนใจเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นได้ ซึ่งถ้าเรานำหลักจิตวิทยาไปใช้เพียงเล็กน้อย ก็จะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้อย่างมาก ไม่ว่าเราจะต้องการให้ใครสักคนโทรศัพท์กลับมาหาเรา หรือเราอยากให้เขาคนนั้นยกโทษให้เรา เทคนิคเหล่านั้นจะช่วยทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยให้เรารู้สึกมีพลังและสามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้ และเมื่อเราสามารถทำได้แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตของเรา
เราจะสามารถทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วยวิถีทางที่เราไม่เคยทำได้มาก่อนเลยในชีวิต เพราะขณะที่ทุกอย่างในชีวิตของเราไม่ได้ดำเนินไปด้วยดี คงเป็นเรื่องยากที่เราจะยื่นมืออกไปช่วยเหลือผู้อื่น แต่เมื่อทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของเราแล้ว เราจะช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้นและรู้สึกดีเกี่ยวกับตัวเราเองและชีวิตของเรา การสร้างพลังให้แก่ผู้อื่นจะช่วยให้เราเติบโตขึ้นอีกระดับ ซึ่งเป็นระดับที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลยในชีวิต ที่สำคัญเราต้องใช้กลวิธีเหล่านี้ในทางที่ดี ถูกต้อง และสร้างสรรค์ ให้กับชีวิตของเราเอง บุคคลรอบข้าง และสังคมโลก

โดย : ภูไท
นายญาณารณ มหัตกุล

ปัญหาความชั่วร้ายตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส

ปัญหาความชั่วร้ายตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส
กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ความชั่วร้าย มี 2 ชนิด คือ

1. ความชั่วร้ายทางกายภาพ ( Physical Evils ) ได้แก่ แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ และภัยพิบัติ เป็นต้น
2. ความชั่วร้ายทางศีลธรรม ( Moral Evils ) ได้แก่ บาปที่บุคคลทำ เช่น การลักขโมย การฆ่าคน การประพฤติผิดในกาม และการทารุณกรรมต่าง ๆ เป็นต้น



1.ว่าด้วยความชั่วร้ายทางกายภาพ ( Physical Evils )
ความชั่วร้ายทางกายภาพ หมายถึง ความชั่วร้ายที่ไม่ได้เกิดจากการที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ แต่เป็นการเกิดขึ้นอย่างอิสระ อยู่เหนือการควบคุมและความเข้าใจของมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแน่นอนว่าความชั่วร้ายทางกายภาพจะเกิดขึ้นที่ใด เมื่อไร และอย่างไร เป็นความชั่วร้ายที่มนุษย์ต้องการหลีกเลี่ยง และพยายามหยุดเหตุการณ์เหล่านั้นไว้ให้ได้ แต่ก็ไม่สามารถกระทำได้
ความชั่วร้ายทางกายภาพ กล่าวได้อีกคือ เป็นความเจ็บป่วยทางกายภาพ (Physical injures) การพังทลาย (damages) และความบกพร่อง (defects) และสาเหตุต่าง ๆ ทางกายภาพที่ทำให้ความชั่วร้ายทางกายภาพเกิดขึ้น เช่น การทำลายล้าง เมื่อเกิดน้ำท่วม พายุที่พัดทำลายบ้านเรือนและสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งโรคร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ร่างกาย หรือสิ่งบกพร่องทางกายภาพต่าง ๆ ด้วย เช่น แขนขาด ขาขาด ตาบอด ฯลฯ นอกจากความชั่วร้ายที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีความชั่วร้ายที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ คือมนุษย์เป็นผู้กระทำให้เกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ ทำให้สภาพทางธรรมชาติเปลี่ยนไป เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก การปล่อยน้ำเสียลงคลอง ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้น้ำไม่สะอาดพอที่สัตว์น้ำจะอาศัยได้ สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป และทำให้ธรรมชาติเสียสมดุลทางนิเวศ ส่งผลกระทบทำให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อโลกโดยตรง โดยที่มนุษย์ไม่สามารถรู้ได้
2.ว่าด้วยความชั่วร้ายทางศีลธรรม ( Moral Evils )
ความชั่วร้ายทางศีลธรรม หมายถึง ความชั่วร้ายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง เป็นทั้งความไม่สมบูรณ์ทางศีลธรรมหรือเป็นการละเลย หรือเป็นการกระทำที่เบี่ยงเบนออกจากบรรทัดฐานของกฎแห่งความดี เป็นความบกพร่องทางศีลธรรม ซึ่งศีลธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดีในตัวเองอยู่แล้วเป็นความดีที่เป็นจริยธรรมส่วนบุคคล และจริยธรรมทางสังคม เมื่อมนุษย์ไม่กระทำตามกฎทางศีลธรรม ก็จะทำให้เกิดความบกพร่องทางศีลธรรมและทางสังคมตามมา ความชั่วร้ายทางศีลธรรมที่มนุษย์ได้กระทำนี้ เป็นเจตจำนงเสรีที่มนุษย์ตัดสินใจเลือกที่จะกระทำในแต่ละจังหวะของชีวิต ดังนั้น ความชั่วร้ายทางศีลธรรมจึงเกิดจากการกระทำของมนุษย์โดยตรง ผลที่ตามมาของการผิดศีลธรรม คือความเลวร้ายหรือความชั่วร้ายส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

1. มุมมองปัญหาความชั่วร้ายตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส

1.1 การขาดความดีของสัตเป็นความชั่วร้าย
นักบุญโทมัส อไควนัส ให้ความคิดเกี่ยวกับความชั่วร้ายว่าเป็นการขาดความดีของสัต ในโลกที่พระเจ้าทรงสร้าง พระองค์ทรงสร้างให้ทุกสิ่งดีพร้อม แต่สรรพสิ่งที่ดีพร้อมนั้นก็ย่อมมีวันที่จะต้องสูญเสียสิ่งที่ตนเองมี เพราะทุกสิ่งมีความจำกัดและมีขอบเขต ไม่มีความหยั่งยืนเหมือนผู้ที่ได้สร้างสรรพสิ่งมา เพราะฉะนั้น สรรพสิ่งจึงเป็นความดี และการมีอยู่ของสรรพสิ่งนั้นจึงเป็นความดีด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์ให้สรรพสิ่งที่ดีนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีความชั่วร้ายจึงเป็นเพียงความบกพร่องที่เกิดขึ้นในสรรพสิ่ง เพราะสิ่งนั้น ๆ ได้สูญเสียสภาพของความดีและตกต่ำไป (the privation of good) หรือ การมีความดีที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ความชั่วร้ายจึงไม่สามารถมีอยู่ในฐานะเป็นสัตหรือความเป็นอยู่ ความดีต่างหากที่เป็นอยู่ แต่เป็นอยู่อย่างจำกัด ในความจำกัดของความดีนี้ ทำให้ความชั่วร้ายเข้ามา แต่ความชั่วร้ายนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความดีสูญหายไปได้

1.2 จักรวาลที่สมบูรณ์ในความหลากหลายของสรรพสิ่ง
เราจะเห็นว่าสรรพสิ่งในจักรวาลถูกสร้างให้เป็นระบบระเบียบ มีตั้งแต่สิ่งที่ดีมากคือมนุษย์ ไปจนถึงสิ่งที่ดีน้อยที่สุด ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ทำไมพระเจ้าไม่ทรงสร้างสรรพสิ่งให้มีความดีเท่าเทียมกัน ทำไมต้องสร้างสิ่งหนึ่งให้ดีกว่าสิ่งหนึ่ง เช่น สร้างมนุษย์ให้ดีกว่าสัตว์ สร้างสัตว์ให้ดีกว่าพืช นักบุญโทมัส อไควนัส ตอบว่า ความหลากหลายเป็นความดีของจักรวาล เป็นการแสดงธรรมชาติแห่งความดีที่พระเจ้าทรงมีอย่างสมบูรณ์และเป็นตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงแสดงออกมาให้มนุษย์ได้เห็นในพระเจ้าอย่างสมบูรณ์
นักบุญโทมัส อไควนัส กล่าวต่อไปว่า ความชั่วร้าย ก็เป็นสิ่งที่ทำให้จักรวาลสวยงามเช่นกัน ทั้งนี้ เพราะพระเจ้าทรงสร้างจักรวาลและสรรรพสิ่งต่าง ๆ ให้มีระดับขั้นความสมบูรณ์ นั่นคือ การมีความสมบูรณ์ที่แตกต่างกัน และมีสิ่งที่ตรงข้ามกัน ความดีก็ตรงข้ามกับความชั่วร้าย เหมือนกับดอกไม้ในสวนที่มีหลายดอกที่อยู่ด้วยกัน การที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้ายในจักรวาลหรือในโลกนี้ก็เพื่อสร้างความสมดุลให้กับจักรวาล โดยที่มองจากภาพรวม ไม่ใช่มองเฉพาะจุด เพราะหากมองโดยรวม จะพบว่ามีความสวยงามของธรรมชาติในจักรวาลอย่างแท้จริง เช่น ในชีวิตของมนุษย์มีเรื่องราวมากมายเข้ามาในชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความสุขและความทุกข์ เสียงหัวเราะ น้ำตา และอื่น ๆ นี่คือชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างแท้จริง เมื่อเรามองเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา ก็จะพบว่าชีวิตนี้มีความสุขมากกว่าทุกข์แน่นอน แม้จะทุกข์ก็จะสุขในความทุกข์นั้น

1.3 เจตจำนงเสรีของมนุษย์ทำให้เกิดความชั่วร้าย
นักบุญโทมัส อไควนัส กล่าวว่า พระเจ้าทรงสร้างทุกอย่างล้วนดี ให้มีเสรีภาพ และ
ให้มนุษย์นั้นเป็นสิ่งสร้างที่ดีที่สุด ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่ชั่วร้ายในตัวมันเอง ความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการใช้เสรีภาพในทางที่ผิดหรือถูกของมนุษย์ในการกระทำสิ่งต่าง ๆ
1.3.1 การกระทำโดยสมัครใจ (Voluntary actions) หมายถึง การกระทำที่เป็นอิสระจากเจตจำนงของผู้กระทำ โดยอาศัยสติปัญญา ที่มีเหตุผลของมนุษย์ที่จะสามารถตัดสินความดี ความชั่วได้ และพระเจ้าจะไม่ทรงบังคับให้มนุษย์กระทำสิ่งต่าง ๆ เพราะพระองค์ทรงสร้างให้มนุษย์มีสติปัญญาและเสรีภาพในการกระทำสิ่งต่าง ๆ มนุษย์จึงกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยความสมัครใจของตน ผลจากการกระทำของมนุษย์ก็จะส่งผลให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ทั้งในระยะเวลาอันสั้น และระยะยาว ตามแต่ว่าจะเกิดไปในทางที่ดีและทางที่ไม่ดี
1.3.2 การกระทำที่ถูกบังคับ (Involuntary actions) หมายถึง การกระทำที่ไม่เป็นอิสระ จากการไม่เกิดจากเจตจำนงของผู้กระทำ แต่เป็นปัจจัยภายนอกที่กระทำหรือถูกผู้อื่นบังคับให้กระทำ โดยที่ผู้กระทำไม่ยินยอมตามความสมัครใจนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็อาจจะดีและไม่ดี แตกต่างกันไปตามการกระทำที่ทำขึ้น แต่การกระทำประเภทนี้จะไม่ออกมาจากเสรีภาพที่แท้จริงของผู้กระทำ ในทางจริยธรรมถือว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพโดยผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นไม่อาจตัดสินใจในการกระทำสิ่งนั้น ๆ ด้วยตนเอง

2. ภัยพิบัติ : ความบกพร่องทางธรรมชาติ, มนุษย์กระทำ หรือ พระเจ้าสร้างขึ้น

ในปัจจุบันมนุษย์ได้รับผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่มนุษย์ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า มันจะเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร ที่ใด กับใคร ดังจะเห็นจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น สึนามิ พายุนากีส์ และแผ่นดินไหว 8.0 ริกเตอร์ เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มนุษย์หลายคนละทิ้งพระเจ้า และไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ในเมื่อบางคนกระทำความดีมาตลอด แต่ทำไมจึงมาเกิดสิ่งที่เลวร้ายกับตนเช่นนี้
ตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส การเกิดขึ้นของเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องในหลาย ๆ ด้าน ถ้ามองจากความบกพร่องทางธรรมชาติ เหตุการณ์นี้ก็เป็นการบกพร่องอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดได้ เป็นความบกพร่องทางธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ของแผ่นเปลือกโลก นักวิทยาศาสตร์และภูมิศาสตร์ได้ให้ความเห็นว่าการเกิดขึ้นของภัยพิบัติในปัจจุบันนั้นไม่สามารถคาดเดาความรุนแรงได้เลย ดังนั้นการป้องกันจึงไม่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์
มนุษย์เป็นผู้กระทำให้เกิดภัยพิบัติหรือ ถ้าจะกล่าวว่าเป็นความชั่วร้ายที่มนุษย์ทำขึ้นก็อาจจะใช่ เพราะมนุษย์ได้กระทำให้ธรรมชาติเสียระบบ เช่น การเทน้ำเสียลงในแม่น้ำ การใช้สารเคมีก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ การใช้พลังงานนิวเคลียร์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและเบาบ้างตามผลที่มนุษย์ได้กระทำต่อธรรมชาติที่ตนเองต้องพึ่งพาอาศัย
สุดท้าย เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกิดการสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดกับคนที่ตนเองรักและรักตนเอง ก็จะโทษว่าพระเจ้าลงโทษ และไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนเองรัก ทั้งที่ตนก็ทำความดีมาตลอด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ตามแนวความคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยที่จะมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เช่น การช่วยเหลือกัน การรู้จักแบ่งปันกัน และการรู้จักรักคนที่เรารักมากยิ่งขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มนุษย์ไม่ได้มองเห็นว่ามันเกิดขึ้น เพราะว่ายังรู้สึกสูญเสียกับสิ่งที่ขาดหายไปอยู่นั่นเอง

3. สรุปแนวความคิด
นักบุญโทมัส อไควนัส ได้ให้คำอธิบายปัญหาความชั่วร้ายที่ค่อนข้างชัดเจน ท่านได้ให้คำจำกัดความของความชั่วร้ายไว้ว่า “ความชั่วร้ายคือการขาดความดีของสัต” การขาดความดีของสัต คือ การขาดธรรมชาติที่สัตควรจะมี ควรจะเป็น และควรจะได้และควรจะทำ ความชั่วร้ายไม่ได้มีอยู่ด้วยตัวเองอย่างชัดเจน แต่ความชั่วร้ายเกิดขึ้นมาเมื่อความดีหรือธรรมชาติที่แท้จริงในสัตขาดหายไป แต่เมื่อธรรมชาติของสัตนั้นกลับคืนมาความชั่วร้ายก็สูญสิ้นไป ความชั่วร้ายมีอยู่ในลักษณะของด้านลบเท่านั้น ไม่ได้มีอยู่เพราะมันจำเป็นต้องมีอยู่ แต่ความชั่วร้ายมีอยู่โดยบังเอิญ เช่น การเจ็บป่วยอาจจะเป็นเพราะการรักษาสุขภาพที่ไม่ดี การทำงานหนักเกินไปหรือด้วยเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ร่างกายต้องป้องกันตนเอง ด้วยอาการเจ็บป่วย แต่เมื่อกินยาและพักผ่อนอย่างเพียงพออาการเจ็บป่วยเหล่านั้นก็จะหายไป หรือว่า ในการกระทำชั่วของมนุษย์ เป็นเพราะมนุษย์ขาดเหตุผลในการพิจารณาสิ่ที่ดีและสิ่งที่ชั่วร้าย ตามเจตจำนงเสรีที่มนุษย์มี
นักบุญโทมัส อไควนัส มองว่า ความชั่วร้ายต่าง ๆ นั้น พระเจ้าทรงอนุญาต ให้มีในจักรวาล ก็เพื่อให้มนุษย์ได้ค้นพบความดีสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นความชั่วร้ายในแบบใด มนุษย์จะค้นพบว่าสิ่งต่างที่มนุษย์มองเห็นในโลกนั้น ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง รวมถึงมนุษย์ด้วยที่ไม่อาจจะสมบูรณ์เท่าพระเจ้า
นักบุญโทมัส อไควนัส ได้อธิบายเพิ่มเติมต่อจากนักบุญออกัสตินว่า การมีความบกพร่อง กล่าวคือ ความชั่วหรือความไม่สมบูรณ์ต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งดี เพราะจะทำให้มนุษย์มองเห็นความดี ความสมบูรณ์เป็นสิ่งจำเป็น และความดี ความสมบูรณ์จะได้เด่นชัดขึ้น มิเช่นนั้นแล้ว ศีลธรรมจะไม่มีความหมาย เพราะถ้ามีแต่ความดี ความสมบูรณ์แล้ว มนุษย์ก็จะไม่รู้จักสิ่งที่เป็นบ่อเกิดของความทุกข์ยากต่างๆ มนุษย์ต้องเปรียบเทียบ อาศัยความบกพร่อง ความสมบูรณ์ เมื่อมนุษย์เป็นโทษของความชั่ว มนุษย์จึงเห็นคุณค่าของความดีเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าไม่มีความชั่ว ความบกพร่องแล้ว มนุษย์จะไม่รู้ว่าความดีและความสมบูรณ์คืออะไร ความสมบูรณ์และเป็นสิ่งที่ดีสูงสุดก็คือพระเจ้า ผู้ทรงกำหนดให้ทุกสิ่งเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์

หนังสืออ้างอิง

เดือน คำดี.ปัญหาปรัชญา.กรุงเทพฯ:โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.2530
สลัน ว่องไว.ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาความชั่วร้ายตามแนวคิดของนักบุญโทมัส อไควนัส.
นครปฐม:วิทยาลัยแสงธรรม.2547
สมเกียรติ จูรอด.ความชั่วร้ายตามแนวปรัชญากับการปรับเปลี่ยนมุมมองของคนในปัจจุบัน.นครปฐม:วิทยาลัยแสงธรรม.2540
เหตุผลบริสุทธิ์ตามแนวความคิดของค้านท์

“มีสองสิ่งที่ทำให้ฉันงุนงงและเกรงกลัวมาตลอด ยิ่งฉันคิดถึงมัน ความคลุมเครือของมันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น นั่นคือสวรรค์ที่แจ่มจรัสด้วยดวงดาวเหนือตัวฉัน และกฎศีลธรรมที่อยู่ในตัวฉัน”

ชีวประวัติและผลงานของค้านท์

อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) เกิดเมื่อ วันที่ 2 เดือน เมษายน ปี ค.ศ.1724
ที่เมืองโคนิกสเบิร์ก (Konigsberg) ประเทศเยอรมัน ในครอบครัวที่ยากจนแต่เคร่งครัดศาสนา บิดามีอาชีพเป็นคนขายอานม้า ค้านเริ่มเรียนหนังสือที่บ้านเกิด ปี ค.ศ. 1740 ได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย สนใจศึกษาภูมิศาสตร์กายภาพ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ปรัชญาและศาสนา หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคนิกสเบิร์ก ค้านท์ก็รับจ้างสอนหนังสือตามบ้านทั่วไปอยู่หลายปี แต่ฐานะทางครอบครัวยังยากจนอยู่เช่นเดิม
ปี ค.ศ.1770 ค้านท์ดำรงตำแหน่งศาสตรจารย์ในมหาวิทยาลัยโคนิกสเบิร์ก สอนวิชาตรรกวิทยาและอภิปรัชญา ค้านท์เป็นคนเจ้าระเบียบ และตรงเวลามากจนเป็นที่กล่าวกันว่า ผู้คนชาวเยอรมันสามารถบอกเวลาได้ เมื่อเห็นค้านท์ออกจากบ้านไปทำงานและกลับมาถึงบ้าน
ค้านไม่สนใจกับความวุ่นวายของโลกมากนัก เพราะเขาจัดแบบชีวิตของตนเอาไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่อย่างไรก็ตาม ค้านท์ก็ยังมีความสนใจในกิจการบ้านเมืองพอสมควร เขาชอบแนวความคิดของรุซโซ่ เจ้าของทฤษฎีสัญญาประชาคมอย่างมาก ได้เฝ้าดูสงครามกู้อิสรภาพของชาวอเมริกัน และการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสด้วยความเห็นอกเห็นใจ ค้านท์เคยเขียนบทความเรื่อง “สันติภาพอันถาวร” ไว้ด้วยซึ่งถือว่าเป็นบทความแสดงแนวความคิดทางการเมืองของค้านท์ชิ้นสำคัญ
ตลอดชีวิตของค้านท์ ไม่เคยย่างกรายออกจากเมืองโคนิกสเบิร์กไปไหนเลยตลอดชีวิตของเขา แต่ค้านท์ติดต่อกับนักปรัชญาทั้งหลายทั่วโลกโดยทางจดหมาย ชีวิตของค้านท์ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เขาดำเนินชีวิตโสดตลอดมา และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 เดือน กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1804 ท่ามกลางชื่อเสียงและความพึงพอใจของตนเอง

ผลงานดีเด่นของค้านท์มีมากมายได้แก่
· “Critique of Pure Reason” (1781, 1787) (บทวิพากษ์ว่าด้วยเหตุผลบริสุทธิ์)
· “Prolegomena to Any Future Metaphysics” (1783)(เกริ่นนำแก่อภิปรัชญาในอนาคต)
· “Principles of Metaphysics of Ethics” (1785)(หลักการอภิปรัชญาของจริยศาสตร์)
· “Metaphysical First Principles of Natural Sciences” (1786)(หลักการแรกทางอภิปรัชญา
ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ)
· “Critique of Practical Reason” (1788) (บทวิพากษ์ว่าด้วยการใช้เหตุผลเชิงปฏิบัติ)
· “Critique of Judgement” (1790)(บทวิพากษ์ว่าด้วยการตัดสินความยุติธรรม)
· “Religion within the Limits of Mere Reason”(1793)(ศาสนาภายใต้ขอบเขตของเหตุผลแท้)
· “Perpetual Peace” (1795)(สันติภาพที่ยั่งยืน)


ความหมาย เหตุผล และ ความเป็นจริง

“เหตุผล” ตามทัศนะของค้านท์

ค้านท์กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล และเหตุผลอยู่ในจิตมนุษย์อยู่ก่อนแล้ว มีลักษณะเป็นสิ่งสากลและแน่นอน และมีอิสระในการเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ร
เหตุผลไม่ใช่เป็นผลที่ได้จากประสบการณ์ แต่เป็นสมรรถภาพทางความคิดที่จะทำให้มนุษย์เข้าใจโลกและจักรวาลได้อย่างเป็นระบบ ค้านท์มองว่า โครงสร้างความเข้าใจของมนุษย์จะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม 2+2 ผลที่ได้ก็ยังคงเท่ากับ 4 ในความเข้าใจของเราเสมอ เพราะเหตุผลเป็นผู้จัดระเบียบข้อมูลต่าง ๆ ทำให้เราเข้าใจประสบการณ์ได้อย่างแน่นอนและชัดเจน
ถึงกระนั้น ค้านท์ก็ได้แยก ความเข้าใจและเหตุผล ออกจากกัน มองว่าความเข้าใจ เป็นขบวนการทางจิตที่ทำให้ข้อมูลกลายเป็นการตัดสินสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นสิ่งนั้น ไม่เป็นสิ่งอื่นไปได้ เช่น ตึก อาคาร และอื่น ๆ โดยอาศัยการทำงานของแบบบริสุทธิ์แห่งมนัส(Categories) และหลังจากนั้น เหตุผล จะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน ข้อมูลต่าง ๆ ที่ประมวลได้ว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
ค้านท์เห็นว่า เหตุผลเป็นกฎธรรมชาติที่ตีกรอบความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ไว้ กล่าวคือเหตุผลเป็นโครงสร้างของธรรมชาติ และแยกจากประสาทสัมผัส เพราะค้านท์เชื่อว่า เหตุผลมีขอบเขตการทำงานกว้างไกลกว่าประสาทสัมผัส แต่เหตุผลก็ไม่สามารถบอกรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เหนือประสบการณ์แก่เราได้ เหตุผลบอกไม่ได้ว่า พระเจ้า, โลกแห่งความเป็นจริง ฯลฯ มีลักษณะอย่างไร เหตุผลบอกเราได้ตามที่โครงสร้างที่มีขอบเขตของเหตุผลสามารถอธิบายได้เท่านั้น ฉะนั้น ความเป็นจริง หรือ ค้านท์เรียกว่า Noumena จึงเป็นสิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้ด้วยเหตุผล เพราะเหตุผลทำให้มนุษย์เข้าใจความเป็นจริงได้ในขอบเขตของโลกแห่งประสบการณ์เท่านั้น (Phenomena)


“Noumena” สิ่งแท้จริง ความเป็นจริง สิ่งที่เป็นจริงในตัวเอง

ตามทัศนะของค้านท์ Noumena (Thing in itself) คือสิ่งที่มีอยู่จริง มีความเป็นจริงในตัวเอง และเป็นสิ่งแท้จริง แต่เราไม่รู้จักและไม่สามารถจะมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งแท้จริงได้ แต่เราอาจคิดถึงสิ่งแท้จริงได้ ในความเป็นจริงของสิ่งแท้จริง กล่าวคือ เรารู้จักสิ่งแท้จริงได้ในฐานะว่า สิ่งแท้จริงนั้นไม่สามารถรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส ไม่อยู่ในกาละและเทศะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ถูกจัดอยู่ในโครงสร้างของสมองของเรา และมีอยู่จริง
ความเป็นจริงของสิ่งที่แท้จริงนั้น สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง เป็นความรู้ที่อยู่ภายนอกจิตของมนุษย์ที่จะรับรู้โดยตรงด้วยเหตุผลไม่ได้ เหตุผลบอกได้แค่เพียงว่าความเป็นจริงนั้นมีอยู่จริง แต่เหตุผลก็ไม่สามารถอธิบายลักษณะความเป็นจริงได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่า มนุษย์สามารถหยั่งรู้ความเป็นจริงได้จริงหรือไม่ อย่างไร

บทบาทและหน้าที่ของเหตุผลในการหยั่งรู้ความเป็นจริง

“ความแตกต่างระหว่างเหตุผลกับความเข้าใจ เหตุผลแตกต่างจากความเข้าใจตรงที่เหตุผลเป็นสมรรถภาพที่ทำให้เรารู้จักมโนคติเกี่ยวกับสิ่งสากลได้”
เหตุผลแตกต่างจากความเข้าใจก็จริง แต่เหตุผลก็มีการทำงานที่ประสานกับความเข้าใจอย่างแยกกันไม่ออกเช่นกัน กล่าวคือ เหตุผลเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ให้กลไกความเข้าใจทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่ทั้งเหตุผลและความเข้าใจก็ไม่สามารถตอบปัญหาเกี่ยวกับโลกแห่งความเป็นจริงได้
เหตุผลทำให้ความรู้ที่มาจากความเข้าใจของประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเป็นระบบและเอกภาพขึ้นมา เพราะเหตุผลมีฐานของมโนคติเกี่ยวกับประสบการณ์อยู่ในธรรมชาติแต่เดิมแล้ว เมื่อเป็นดังนี้ เหตุผลยังคงต้องการที่จะเข้าใจความรู้ที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสด้วย เพราะค้านท์เห็นว่าความจริงที่ปรากฏนั้นยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ต้องมีสิ่งที่สมบูรณ์ที่ยังไม่ปรากฏ และความสมบูรณ์นี้ก็ต้องทำให้เกิดความจริงที่ปรากฎขึ้นแน่นอน
ดังนั้น เหตุผลไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งทั้งหลายในโลกมีความหมายในตัวของมันเองขึ้นมา สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนแต่มีความหมายในตัวของมันเองทั้งสิ้น เหตุผลเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นที่เข้าใจได้และมีความหมายสำหรับมนุษย์เท่านั้น

การหยั่งรู้ความเป็นจริงของเหตุผล

การหยั่งรู้ความเป็นจริงของค้านท์ มี 2 แบบ ได้แก่

1. การหยั่งรู้โดยผ่านกลไกทางจิต (เหตุผลภาคทฤษฎี หรือ เหตุผลบริสุทธิ์)

สำหรับค้านท์ การเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงที่ผ่านกระบวนการทำงานของความเข้าใจ โดยมีสภาวะผ่านกาละและเทศะของกฎไกความเข้าใจของจิต ทำให้โลกแห่งความเป็นจริง หรือสิ่งแท้จริงนั้น กลายเป็นสิ่งที่เรารู้จักแล้ว หรือโลกแห่งปรากฎการณ์ และความรู้ประเภทนี้ก็ไม่ได้ทำให้สิ่งที่มีอยู่ในโลกมีความหมายมากไปกว่าเดิมเลย
ดังนั้น เราไม่อาจรู้จักความเป็นจริง (Noumena) ได้เลย เพราะเมื่อความเป็นจริงได้ผ่านเข้ามาในโครงสร้างของจิตของเราแล้ว ความเป็นจริงจะถูกตีความจนกลายเป็นสิ่งที่ปรากฏ (Phenomena)
กล่าวคือ ในขั้นแรก สิ่งในตัวเอง (Thing in itself) จะผ่านขั้นตอนของโครงสร้างของจิตส่วนที่เรียกว่าการหยั่งรู้ (Intuition) หรือรูปแบบบริสุทธิ์ของผัสสะ (Pure forms of Sensibility) ซึ่งมีกาละ และ เทศะ กลไกของจิตส่วนนี้จะจัดข้อมูลที่ได้รับการจัดลำดับแล้ว จะถูกส่งเข้าไปสู้โครงสร้างของจิต ในส่วนที่เรียกว่าโครงสร้างแยกประเภทของมนัส (Categories) หรือรูปแบบบริสุทธิ์ของความเข้าใจ (Pure forms of Understanding) กลไกของจิตในขั้นตอนนี้จะประกอบข้อมูลและตีความข้อมูลที่ได้ออกเป็นประสบการณ์ที่เราสามารถเข้าใจได้ ซึ่งเราไม่อาจยืนยันได้ว่า ผลสรุปที่ได้จะตรงกับความเป็นจริงที่เป็นต้นตอ เพราะมันได้ถูกบิดเบือนโดยโครงสร้างการทำงานของจิตมนุษย์เสียแล้ว




ขั้นตอนการทำงานของจิต

ค้านท์กล่าวไว้ใน หนังสือ บทวิจารณ์เหตุผลบริสุทธิ์

กลไกการทำงานจิตของมนุษย์

กลไกสัมผัส กลไกความเข้าใจ
ความเป็นจริง
Noumena
กาละและเทศะ
(Pure forms of Sensibility)
หรือการหยั่งรู้
แบบบริสุทธิ์แห่งมนัส
(Pure forms of understanding or categories)
ประสบการณ์หรือสิ่งที่ปรากฎ
Phenomena





ใน Pure reason ค้านท์ได้บอกว่า เราสามารถจะเข้าถึง Noumena อีกทางหนึ่งได้นั้นคือ Practical Reason ความรู้โดยทางปฏิบัตินี้ ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นความรู้เด็ดขาด เรียกว่า คำสั่งเด็ดขาด (Categorical imperative)

2. การหยั่งรู้โดยเหตุผลภาคปฏิบัติ โดยผ่านทางกฎศีลธรรม เป็นเหตุผลที่มีอยู่จริง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เหตุผลภาคทฤษฎีนั้นไม่สามารถจะให้คำอธิบายหรือตอบปัญหาเกี่ยวกับนามธรรมเหนือโลก เช่น เรื่องความดี พระเจ้า ฯลฯ แต่ตอบปัญหาที่เป็นโลกแห่งประสาทสัมผัส
ส่วนเหตุผลภาคปฏิบัตินั้น ค้านท์เชื่อว่า ใช้กับสิ่งที่อยู่เหนือขอบเขตของประสาทสัมผัสได้ ในเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม กล่าวคือเหตุผลภาคปฏิบัตินั้นเป็นความเป็นจริงที่เราสามารถเข้าถึงได้โดยตรง

กฎศีลธรรม
มีลักษณะเป็นคำสั่ง คือสั่งให้ทำสิ่งต่าง ๆ และห้ามทำในบางอย่างด้วย มี 2 แบบ
1. คำสั่งแบบมีเงื่อนไข เช่น “ถ้านายแดงเป็นคนยุติธรรมแล้ว นายแดงก็จะได้รับคำชมเชย” หมายความว่า ถ้านายแดงยุติธรรมแล้วจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ แสดงว่าเป็นการกระทำที่หวังผล ความยุติธรรมไม่ได้เป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง มันดีเพราะมันได้รับผล แสดงว่านายแดงไม่ได้ทำตามหน้าที่
2. คำสั่งเด็ดขาด นั้นแตกต่างจากแบบแรก คือเป็นคำสั่งที่ไม่มีเงื่อนไข เช่น จงเป็นคนยุติธรรม ไม่ว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม เพราะความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ดีในตัวเองอยู่แล้ว
กฎศีลธรรมของค้านท์ มีลักษณะเป็นคำสั่งเด็ดขาด การกระทำที่ดีคือกระทำตามกฎอย่างไม่มีเงื่อนไข กฎที่ว่านี้ก็คือ การกระทำตามหลักการที่เป็นสากล ใช้ได้ในทุกกรณี เพราะฉะนั้น การที่เราจะตัดสินว่าการกระทำของเรา ผิดหรือถูก เราต้องพิจารณาดูว่า สิ่งที่เราทำนี้เราตั้งใจให้ทุกคนในโลกทำหรือไม่ นั่นคือให้ทุกคนใช้หลักการเดียวกันหรือไม่

ความแตกต่างระหว่างเหตุผลภาคทฤษฎีและเหตุผลภาคปฏิบัติ

การใช้เหตุผลภาคทฤษฎีเข้าจับประเด็นปัญหาทางศีลธรรม ก็จะเห็นว่าความเข้าใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านกระบวนการทางความคิดหรือแบบบริสุทธิ์แห่งมนัสนั้นจะบอกให้สมองของเรารู้ได้ทันทีว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งใด ถูกต้องตามระบบเหตุผลที่ได้วางไว้หรือไม่ เช่น การให้ทานเป็นการทำความดีหรือไม่ จะเป็นการวิเคราะห์ทางด้านทฤษฎีเท่านั้น เช่น ถ้าค่านิยมถือว่า การให้ทานดี เราก็จะใช้เหตุผลภาคทฤษฎีอธิบายการกระทำนั้นว่าดีได้
แต่ถ้าเราใช้เหตุผลภาคปฏิบัติเข้าจับประเด็นปัญหาทางศีลธรรม เราจะไม่สามารถอธิบายเป็นทฤษฎีบทได้ เพราะเหตุผลภาคปฏิบัติเป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นกับค่านิยม และไม่อ้างอิงกฎเกณฑ์ทางประสบการณ์ใดใด เพียงแต่บังคับให้เรามีความสำนึกว่าสิ่งนั้นดี เพราะเรารู้สึกว่ามันดีโดยไม่มีเงื่อนไข (เป็นเหตุผลซึ่งอยู่ในสภาวะบริสุทธิ์ หรือเรียกว่า เหตุผลบริสุทธิ์นั้นเอง)

สรุปและความคิดเห็นของผู้เขียน

เหตุผลบริสุทธิ์ตามแนวความคิดของค้านท์ เป็นขั้นตอนการทำงานของโครงสร้างของจิตที่มีอยู่ในมนุษย์อยู่ก่อนแล้ว เป็นความสามารถที่จะแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในจิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นจริง กระบวนการทำงานของจิตนั้น มีทั้งกาละและเทศะ และมีแบบบริสุทธิ์แห่งความเข้าใจเป็นเครื่องช่วยตัดสินว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่เป็นจริง และสิ่งใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
ความเป็นจริงตามทัศนะของค้านท์ก็คือสิ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิยามหรือการตีความหมายตามความคิดของมนุษย์ ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ค้านท์ยอมรับว่า โลกภายนอก(สิ่งแท้จริง) เช่น ต้นไม้ ทะเล อากาศ ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงก่อนที่มนุษย์จะรับรู้ แต่เมื่อมนุษย์รับรู้และลงมติว่ามันคืออะไร สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นโลกที่ปรากฏ แม้แต่เรื่องที่เกี่ยวกับนามธรรมต่าง ๆ เช่น พระเจ้า ความดี ฯลฯ ก็เป็นไปทำนองเดียวกัน ฉะนั้น ตราบใดที่ความรู้ของมนุษย์จะต้องผ่านโครงสร้างการตีความหมายและนิยามของมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็ไม่อาจจะรู้จักโลกที่แท้จริงได้เลย
กล่าวโดยสรุป กฎของสาเหตุและผลเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในจิตของเรา เขาเห็นด้วยกับฮิวม์ว่าเราไม่อาจรู้ได้อย่างแน่นอนว่า โลกอย่างที่มันเป็น เป็นอย่างไร เรารู้ได้แค่ว่า โลกที่ปรากฏต่อการรับรู้ของเราเป็นอย่างไร เพราะแม้เราจะยังไม่เคยมีประสบการณ์เลย แต่เราก็สามารถบอกได้ว่าจิตของเราจะรับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างไร
ค้านท์มองว่ามีองค์ประกอบสองอย่างที่ทำให้มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับโลกได้ อย่างหนึ่งคือเงื่อนไขภายนอกที่เราไม่อาจรู้ได้ นอกจากเราจะรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเสียก่อน เราเรียกสิ่งนี้ว่า เนื้อหาของความรู้ องค์ประกอบอีกอย่างคือเงื่อนไขภายในตัวมนุษย์เอง อาทิ การรับรู้เหตุการณ์ ในฐานะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในกาละและเทศะ เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับกฎของสาเหตุและผล เราเรียกสิ่งนี้ว่า กรอบของความรู้
ดังนั้น จะเห็นว่า เหตุผลบริสุทธิ์นั้นสามารถเข้าได้ถึงความเป็นจริงที่จิตสามารถรับรู้ได้ ในโลกนี้เท่านั้น ไม่อาจก้าวข้ามไปสู่สิ่งที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสได้ เหตุผลบริสุทธิ์เปรียบได้กับสิ่งที่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ยังขาดการได้สัมผัสให้เข้ามาในกระบวนการทางความคิด มนุษย์เราก็เช่นกัน เราจะรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ เมื่อเราเห็นมัน สัมผัสมัน และได้เข้าใจมัน เมื่อพบสิ่งนั้นอีกก็จะยังเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น ไม่เป็นสิ่งอื่น ๆ ไปได้


หนังสืออ้างอิง

กอร์เดอร์, โยสไตน์.โลกของโซฟี:เส้นทางจินตนาการสู่ประวัติศาสตร์ปรัชญา.
พิมพ์ครั้งที่แปด.กรุงเทพฯ:คบไฟ.2548.
ภัทรพร สิริกาญจน.บทบาทของเหตุผลในงานเขียนของค้านท์. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2520.
ชเอิญศรี อิศรางกูร, ผศ.ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2526
ติดคำ สฎาทู. การศึกษาเชิงวิเคราะห์ทฤษฎีความรู้ของค้านท์. นครปฐม : วิทยาลัยแสงธรรม.2534.

Superman : Nietzsche


Superman : Nietzsche

“อภิมนุษย์ The Superman” ด้วยเจตจำนงสู่อำนาจ นำไปสู่แนวคิดว่าด้วย “อภิมนุษย์ The Superman” เขาชี้ให้เห็นว่าศีลธรรมเป็นตัวกำหนดสถานภาพของคน เขาปฏิเสธความคิดเรื่อง ความเสมอภาค (equality) เพราะคนส่วนใหญ่เป็น “พวกอยู่เป็นฝูง the common herd” ไม่มีสติปัญญาเพียงพอที่จะไขว่คว้าถึงจุดสูงสุดแห่ง “จิตวิญญาณเสรี free spirits” ได้ ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ดีรวม the common good” คนระดับ “อภิมนุษย์” จึงหายาก แต่ในวิวัฒนาการขั้นต่อไปของมนุษยชาติจะบังเกิด บุคคลพิเศษ เหนือมนุษย์ทั่วไปที่เรียกว่า “อภิมนุษย์” ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของวิวัฒนาการของมนุษยชาติ (Superman is goal.) หมายถึง ผู้ทรงอำนาจที่ยิ่งใหญ่ภายในอย่างสูงส่ง จึงจะก้าวผ่านเข้าสู่วิวัฒนาการขั้น “อภิมนุษย์” ได้เป็นมนุษย์ผู้พร้อมถึงการบรรลุถึงสุดยอดความแกร่งกล้าแห่งกาย ภูมิปัญญา และอารมณ์ “ผู้เป็นอภิมนุษย์จึงเป็นมนุษย์ผู้เป็นอิสระอย่างแท้จริง” ทั้งนี้เพราะเขาเป็นผู้ที่ไม่มีสิ่งใด ๆ จะมาทำให้เกิดอุปสรรคที่ก่อข้อยกเว้นได้ด้วยพลังสูงสุดแห่งเจตจำนงสู่อำนาจของเขา เขาคือ ผู้ทรงพลังแห่งชีวิตอย่างบริบูรณ์
องค์ประกอบของการจะเป็นยอดมนุษย์ คือ การพัฒนามนุษย์ไปสู่ยอดมนุษย์ ที่มีกำลัง พลังที่แข็งแกร่ง มีอำนาจ ปกครอง (Will to power) ดังนั้น การอบรมอย่างเข้มงวดซึ่งความสมบูรณ์แบบจะต้องมีลักษณะแน่นอนตายตัว
พลังปัญญา และความภาคภูมิ คือสิ่งที่สร้างยอดมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ต้องประสานอย่างกลมกลืน เพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุด
ระบบอภิชนาธิปไตยเป็นทางสายที่จะนำไปสู่การเป็นยอดมนุษย์ ซึ่งเป็นการปกครองที่เป็นการปกครองในรัฐในอุดมคติของพลาโต้ ที่มีความสมบูรณ์แบบ เพราะการสร้างและปลูกฝังรูปแบบของมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นการทำให้มนุษย์มีความสุขในสิ่งที่ทำและเป็นอยู่ ด้วยการมีสติปัญญา พลัง ร่างกายที่สามารถทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ นิทเช่มีทัศนะที่ต้องการมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์แบบ ดังนั้น การจะมีความสมบูรณ์แบบต้องมีอิสระ เสรีภาพ ในการทำสิ่งต่าง ๆ เพราะยอดมนุษย์ หรือ อภิมนุษย์ ต้องมีความสมบูรณ์แบบในทุก ๆ ด้าน ศีลธรรมจึงไม่ได้มีความเมตตา

เท่านั้น แต่อยู่ที่กำลัง ความพยายามของมนุษย์จึงไม่ได้เป็นการยกระดับคนทั้งหมด หากแต่เป็นการพัฒนาบุคคลให้แข็งแรงกว่าและมีคุณสมบัติที่ดีกว่า “เป้าหมายมิใช่มนุษยชาติ แต่เป็นยอดมนุษย์ สิ่งสุดท้ายที่บุคคลซึ่งมีสติสัมปชัญญะ จะทำคือการปรับปรุงมนุษยชาติ มนุษยชาติมิได้ดีขึ้น มันมิได้มีตัวตนอยู่ด้วยซ้ำไป มันเป็นเพียงนามธรรม สิ่งที่มีอยู่คือบุคคลแต่ละคนซึ่งคลาคล่ำไปหมด รูปหนึ่งของส่วนทั้งหมดนั้นคล้ายกับโรงงานทดลองขนาดใหญ่ซึ่งบางสิ่งในทุกยุคสืบต่อกันมาในขณะที่ส่วนใหญ่ล้มเหลว และเป้าหมายของการทดลองทั้งมวลมิใช่ความดีของมวลชน หากแต่เป็นการพัฒนาแบบอย่างของมนุษย์ ให้สังคมสิ้นสุดลงจะดีเสียกว่าการปราศจากคนระดับสูง สังคมเป็นเครื่องมือสำหรับส่งเสริมอำนาจและบุคลิกภาพของเป้าหมาย
มนุษย์สามารถยกระดับของตนเองให้สูงกว่าสัตว์และได้บรรลุถึงศักดิ์ศรีอันเป็นเอกซึ่งนักปรัชญาทั้งหลายในอดีตพิจารณาแล้วว่าเป็นสิทธิของมนุษย์มาแต่แรกเกิด
นีทเช่ มีความเชื่อว่า อภิมนุษย์ หรือ บุคคลผู้มีอำนาจสูงสุด ได้มีมาแล้วในอดีต เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู พระโมฮัมหมัด จนถึงปัจจุบัน เช่น โกเต นักปราชญ์ชาวเยอรมัน จุดมุ่งหมายในการเกิดขึ้นของอภิมนุษย์ก็เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์และความสุขของมวลชน ดังนั้นอภิมนุษย์จะมีความพร้อมเสมอในการพบกับอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะดีหรือเลว ก็สามารถที่จะแก้ปัญหาได้
บทวิจารณ์
ยอดมนุษย์ไม่ได้อยู่เหนือความดีและความชั่ว
- นีทเช่ ได้อธิบายว่า เจตจำนงที่จะมีอำนาจอันแข็งแรงเท่านั้นจึงสามารถเข้าถึงฐานะแห่งยอดมนุษย์ได้ ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เราจะเชื่อว่า เขาอยู่เหนือความดี ความชั่วหรือ
- นีทเช่ เชื่อว่า ยอดมนุษย์ วิวัฒนาการมาจากคนธรรมดา กฎทางศีลธรรมเกิดจากการตีความหมายเรื่องปรากฎการณ์เท่านั้น ดังนั้นแล้ว เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า อะไรเป็นมาตรการตัดสินความดี ความชั่ว ในเมื่อ การตัดสินทางศีลธรรมต้องเป็นกฎสากล มนุษย์คนใดคนหนึ่งไม่สามารถลบล้างกฎทางศีลธรรมได้


- ตามทัศนะของนีทเช่ การพัฒนามนุษยชาติจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าปราศจากการตื่นตัวในการแสวงหาอำนาจและการปกครอง ตลอดจนถึงการกำหนดให้มีคุณธรรมต่าง ๆ เช่น ความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นต้น ดังนั้น หน้าที่อันสูงสุดของมนุษย์คือการมีอำนาจ เป็นยอดมนุษย์ จึงได้พัฒนาอำนาจทั้งหมดของเขาไปตามลำดับและเขาก็มีความประพฤติเหมือนกันกับคนทั่วไป ความรักในการต่อสู้และเสี่ยงภัยในการแสวงหาอำนาจเหตุผล ความกล้าหาญและความภูมิใจเป็นคุณสมบัติที่เกี่ยวเนื่องกันของเขา
ความคิดเห็นของนักศึกษา
การที่จะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่เหนือกฎทางศีลธรรมนั้น เป็นการได้ยาก เพราะไม่มีบุคคลใดจะเป็นมาตรการตัดสินความประพฤติ แนวความคิดของนีทเช่ส่งผลดีในแง่ของการมีเป้าหมายในการพัฒนามนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์แบบ ต้องการให้มนุษย์มีคุณธรรมทั้งครบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อการสร้างสังคมในอุดมคติ เป็นการสร้างบุคคลเพื่อให้สังคมน่าอยู่ แต่นีทเช่ปฏิเสธพระเจ้า และ การนับถือศาสนาว่าเป็นการทำให้มนุษย์ขาดเสรีภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างที่ใจต้องการได้
มนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ทั้งครบจะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่มีกฎทางศีลธรรม เพราะมัวแต่คิดว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ในเรื่องนี้ทำให้ยอดมนุษย์เป็นเรื่องแปลกสำหรับความคิดของคนทั่วไป
การมีพลัง สติปัญญา ร่างกายที่แข็งแรง เป็นการกล้าที่จะใช้เหตุผล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการสร้างสรรค์แนวความคิดในวิวัฒนาการปัจจุบัน ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้แนวความคิดแบบใหม่ ๆ จากนีทเช่ อำนาจที่ได้มาก็ควรให้มีขอบเขต และใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นมีความสุขในการมีอำนาจ
หนังสือประกอบรายงาน
วารีญา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม.ปรัชญา 101 : กระแสคิดที่ทรงอิทธิพล.กรุงเทพฯ : ชีวาภิวัฒน์, 2547, พิมพ์ครั้งที่ 2
ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์.ปรัชญาตะวันตกร่วมสมัย 1 .กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.2522
Will Durant, The Story of Philosophy : The live and Opinion of the Greater Philosophers, Time Inc. Division,1926.

โรงเรียนคาทอลิกแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปอย่างไร


โรงเรียนคาทอลิกแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปอย่างไร

จากการได้รับฟังการบรรยายจากคุณพ่อเอกชัย ชินโคตร ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นมุมมองของแนวความคิดเกี่ยวกับโรงเรียนในด้านต่าง ๆ แม้ว่าจะมีระยะเวลาเพียงสั้น ๆ แต่ก็ทำให้เห็นว่าโรงเรียนเครือคาทอลิกยังต้องพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ อีกมาก ทั้งในด้านการพัฒนานักเรียนที่ต้องมุ่งให้ศีลธรรม จริยธรรม ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้

โรงเรียนคาทอลิก
ด้านการให้ความรู้แก่นักเรียน มีความเป็นเลิศ นักเรียนสามารถสอบเข้าในสถานที่ต่าง ๆ ได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโรงเรียนทั่วประเทศ การบริหาร การจัดการภายในโรงเรียนมีความเป็นระบบระเบียบและมีเป้าหมาย วิชั่น มิชชั่น ที่ชัดเจน ทำให้โครงสร้างของโรงเรียนเป็นไปทิศทางเดียวกัน อาคารเรียนมีความทันสมัยและปรับปรุงด้านสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักเรียนให้เหมาะแก่การเรียนการสอนเสมอ
ด้านการรับนักเรียนที่เป็นคาทอลิก หรือว่า การรับนักเรียนที่เรียนดี แต่ฐานะยากจนเข้ามาเรียนในโรงเรียนยังขาดการสนับสนุน และยังต้องปรับปรุงให้มาก เพราะถ้าโรงเรียนแสวงหาเฉพาะนักเรียนที่มีฐานะยากจน ก็จะทำให้การสร้างสังคมเกิดการแบ่งชนชั้น และทิศทางของการสร้างโรงเรียนตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียนก็จะไม่เกิดผลเท่าที่ได้ตั้งไว้
สภาพบรรยากาศของโรงเรียนคาทอลิก เหมาะแก่การเรียนและสื่อหรือสิ่งเสพติดไม่ค่อยจะปรากฏให้มีหรือเกิดขึ้นในโรงเรียนได้เลย ทำให้นักเรียนในโรงเรียนมีการเรียนที่ดีและมีความรู้จากการศึกษาเหล่าเรียน

โรงเรียนทั่วไป
โรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่จะมีครูที่สอบบรรจุได้และที่ยังไม่ได้สอบบรรจุ หรือกำลังฝึกสอนอยู่ ครูรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการให้ความรู้แก่เด็ก การเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์จึงไม่เกิดขึ้นในเด็กที่เรียน โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนอยู่แล้วหรือเด็กที่เรียนไม่ทันเพื่อน ๆ ปัญหาในโรงเรียนรัฐบาลมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่บางโรงเรียนก็มีบรรยากาศของการเรียนรู้ไม่แพ้โรงเรียนเอกชนหลาย ๆ โรง เพราะว่าบรรดาบุคลากร ครู ต่างมีวิสัยทัศน์ และเป้าหมายในการบริหารโรงเรียนอย่างแท้จริง
อีกทั้งโรงเรียนรัฐบาลก็ยังไม่ได้ดำเนินการจัดสรร ครูที่มีคุณภาพเข้ามาสอนเด็ก ทำให้โรงเรียนนั้น ๆ ขาดการให้ความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กในอนาคต เพราะถ้าโรงเรียนไม่ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม หรือระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็จะทำให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาไม่สามารถออกไปดำเนินชีวิตสู่โลกภายนอกได้เลย
โรงเรียนคาทอลิกและโรงเรียนรัฐทั่วไปจึงยังแตกต่างกันทั้งทางคุณภาพและการให้ความรู้แก่เด็กในโรงเรียน แต่เมื่อทุกโรงเรียนได้ให้ความสำคัญกับเด็กและต้องการพัฒนาเด็กให้เจริญสู่โลกภายนอกอย่างแท้จริง เชื่อแน่ว่า การทำให้สังคมไทยมีปัญญาในการดำเนินชีวิตจะทำให้สังคมมีความสุขอย่างแท้จริง โดยอาศัยการจัดการศึกษาที่ดีในโรงเรียนและการศึกษานอกโรงเรียน