วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

ชี วิ ต ที่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดของศิษย์พระคริสต์ : เ ป า โ ล สะท้อนชีวิตโดย : ปลายจันทร์

ชี วิ ต ที่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดของศิษย์พระคริสต์ : เ ป า โ ล

“ ชี วิ ต คือการเปลี่ยนแปลงจากช่วงชีวิตหนึ่งไปสู่อีกช่วงชีวิตหนึ่ง ชีวิตคือการย่ำอยู่กับที่ในสิ่งที่ตนพอใจและเป็นอยู่ ชีวิตคือการตามหาอุดมคติตามที่ตนได้รับการปลูกฝังมาครั้งเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ ชีวิตคือการแสวงหาความสุขตามสิ่งที่ตนพึงพอใจ ทั้งถูกหรือผิดศีลธรรม”
ชีวิตคืออะไร? เกิดมาเพื่อสิ่งใด? แล้วจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตมนุษย์อยู่แห่งใด? คำถามในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ยังเป็นคำตอบที่มนุษย์ได้ค้นหาเรื่อยมาตลอดช่วงชีวิต เมื่อเป็นเช่นนี้ชีวิตจึงเป็นชีวิตที่ต้องท้าทายให้ค้นหาความจริงที่เป็นความสุขในชีวิตของแต่ละคน อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะค้นพบความสุขในชีวิตได้หรือไม่ แล้วความสุขในชีวิตนี้มีจริงหรือไม่ ผู้หนึ่งที่ค้นหาความจริงที่เป็นความสุขในชีวิต และคิดว่าสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่นั้นคือสิ่งที่ใช่สำหรับตนเอง “เซาโล แห่ง ทาร์ซัส” “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิว เกิดที่เมืองทาร์ซัส ในแคว้นซีลีเซีย แต่เติบโตในกรุงเยรูซาเล็ม กามาลิเอลเป็นอาจารย์สอนข้าพเจ้าให้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด”(กจ.22:3) ท่านหวังว่าการปฏิบัติศาสนาที่เคร่งครัดตามพระบัญญัติของพระเจ้าที่มอบให้แก่โมเสสเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าพอพระทัยและจะทำให้ท่านมีความสุขกับสิ่งที่ท่านได้ปฏิบัติ “ข้าพเจ้าได้รับพิธีเข้าสุหนัตเมื่อเกิดมาได้แปดวัน เป็นเชื้อสายชนชาติอิสราเอลจากตระกูลเบนยามิน เป็นชาวฮีบรูจากชาวฮีบรู ในด้านธรรมบัญญัติ เป็นชาวฟาริสี ในด้านความกระตือรือร้น เป็นผู้เบียดเบียนพระศาสนจักร ในด้านความชอบธรรมตามธรรมบัญญัติ ไม่มีสิ่งใดจะตำหนิข้าพเจ้าได้”(ฟป.3:5-6) การเบียดเบียนคริสตชนที่เชื่อใน “เยซูแห่งนาซาเร็ธ” เป็นภารกิจที่เซาโลได้กระทำ
“ข้าพเจ้าเบียดเบียนถึงตายผู้ที่ดำเนินตามวิถีทางของพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าจังกุมทั้งชายและหญิงจองจำไว้ในคุกและนำกลับมากรุงเยรูซาเล็มเพื่อลงโทษ”(กจ.22:21) เพราะเห็นว่าความเชื่อเช่นนี้เป็นการทำผิดพระบัญญัติพระเจ้าในพันธสัญญาเดิมสมัยโมเสส ทำให้เซาโลเริ่มการทำลาย เบียนเบียน ข่มเหง และเข่นฆ่า ผู้ที่เชื่อในเยซูแห่งนาซาเร็ธ
สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้เบียดเบียนคริสตชนที่ชื่อ “เซาโล” บนเส้นทางไปดามัสกัส เกิดอะไรขึ้นระหว่างทางที่ท่านจะไปข่มเหง เบียดเบียนและเข่นฆ่าคริสตชนที่ดามัสกัส ท่านพบกับพระคริสตเจ้าระหว่างทางไปเบียนเบียน เมื่อเห็นนิมิตพระเยซูเจ้า เซาโลถามว่า “พระเจ้าข้า พระองค์คือใคร” และได้รับคำตอบว่า “เราคือเยซู ซึ่งท่านกำลังเบียดเบียน”(กจ.9:5) ทำให้ท่านตามืดบอดไปมองสิ่งต่าง ๆ ไม่เห็น สภาพจิตใจของเซาโลคงต้องการหลุดออกมาจากความมืดบอดนี้ “เซาโลจึงลุกขึ้นจากพื้นดิน ลืมตา แต่ก็มองไม่เห็นสิ่งใด คนอื่นจึงจูงมือเขาพาเข้าไปในเมืองดามัสกัส เซาโลมองไม่เห็นสิ่งใดเลยเป็นเวลาสามวัน ทั้งไม่ได้กิน ไม่ได้ดื่ม”(กจ.9:8-9) และเริ่มสู่การมีชีวิตใหม่ที่ตนเองได้พบกับพระเยซูคริสตเจ้า พระคริสตเจ้าได้ทำให้เซาโลที่ได้เบียดเบียนเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนจากความต่ำต้อยในความเชื่อที่เห็นเพียงสิ่งภายนอก สู่ความเชื่อที่สามารถสัมผัสได้ด้วยหัวใจ “เราแต่งตั้งท่านให้เป็นแสงสว่างส่องนานาชาติ เพื่อท่านจะได้นำความรอดพ้นไปจนสุดปลายแผ่นดิน” (กจ.13.47) นำไปสู่ชีวิตที่มีพระคริสตเจ้าทรงนำทางชีวิต เปลี่ยนจากเซาโล ผู้เบียดเบียน เป็น “เปาโล ศิษย์พระคริสต์”
จุดหักเหของชีวิตที่เปาโลพบ เมื่อพระจิตเจ้าได้เปิดตา เปิดหัวใจที่แข็งกระด้างของท่านที่มีต่อพระเยซูคริสตเจ้าให้ได้รับพลังในการประกาศข่าวดีของพระองค์แทนการเบียดเบียนอย่างที่เคยทำมา เปาโลได้พบว่าความจริงในสิ่งต่าง ๆ ได้รับการไขแสดงเปิดเผยโดยพระจิตเจ้า ให้ท่านมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด


พระคริสตเจ้าเป็นพระแมสซิยาห์ และชีวิตคริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

เปาโลได้พบว่าพระคริสตเจ้าเป็นพระแมสซิยาห์ที่พระเป็นเจ้าได้ทรงสัญญาไว้ว่าจะส่งมาไถ่กู้บาปของมนุษยชาติในพันธสัญญาเดิม ซึ่งท่านเองได้ค้นหามานานตลอดช่วงชีวิตที่หลงทางอยู่นั้น แต่ก่อนท่านคิดเสมอว่า คริสตชนก็คือศัตรูของความเชื่อของตน จนได้ค้นพบว่า ชีวิตคริสตชนก็คือชีวิตพระคริสตเจ้า “เราคือเยซูที่ท่านกำลังเบียดเบียน”(กจ.9:5)
พระศาสนจักรจึงเป็น “ร่างกาย” ของพระคริสตเจ้า เป็นพระคริสตเจ้าที่อยู่ในธรรมชาติมนุษย์ต่อไปในโลก เป็นเจ้าสาวที่รักของพระคริสตเจ้า
สิ่งที่บรรดาประกาศกได้ประกาศ ได้ให้รอคอยพันธสัญญาเดิม “พันธสัญญา” ที่รอคอยพระผู้ช่วยให้รอด เพราะความเข้าใจนี้ท่านยอมรับต่อหน้ากษัตริย์อากริปปา และอันที่จริงธรรมล้ำลึกเรื่องพระเยซูเป็นพระแมสซิยาห์นั้น กลับเป็นพื้นฐานความเชื่ออันลำซึ้งของท่าน และท่านอุทิศชีวิตทั้งหมดไว้กับ “ความจริง” นี้
“บัดนี้ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้รับทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ความทรมานของพระคริสตเจ้ายังขาดสิ่งใด ข้าพเจ้าก็เสริมให้สมบูรณ์ด้วยการทรมานในกายของข้าพเจ้า เพื่อพระกายของพระองค์ อันได้แก่พระศาสนจักร ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้พระศาสนจักรนี้ตามภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบให้ เพื่อจะได้ประกาศพระวาจาของพระเจ้าให้แก่ท่านอย่างสมบูรณ์”(คส.1:24-25)

ความมืดบอดเป็นการยอมรับในความผิดบาป

ความมืดบอดทางด้านร่างกาย ทำให้จิตวิญญาณของเปาโลกลับสำนึกในความผิดบาปที่เคยทำมา ท่านยอมรับความผิดพลาดของชีวิตและรู้สึกเสียใจในสิ่งที่เคยได้ทำผิดไป “ข้าพเจ้าไม่เข้าใจสิ่งที่ข้าพเจ้ากระทำ สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากทำ ข้าพเจ้ากลับไม่ทำ สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยากทำ ข้าพเจ้ากลับทำ ถ้าข้าพเจ้าทำสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยากทำ ข้าพเจ้ายังยอมรับว่าธรรมบัญญัตินั้นประเสริฐ ดังนั้น จึงไม่ใช่ข้าพเจ้าที่กระทำกิจการนั้น แต่เป็นบาปซึ่งอาศัยอยู่ในตัวข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้ารู้ว่าในตัวข้าพเจ้านั้น ธรรมชาติมนุษย์ของข้าพเจ้าไม่มีความดีอยู่เลย เพราะความปรารถนานั้นมีอยู่แล้ว แต่ขาดพลังที่จะกระทำ เพราะว่าข้าพเจ้าไม่ทำความดีที่ข้าพเจ้าปรารถนา กลับทำความชั่วที่ไม่ปรารถนาจะทำ” (รม.7:14-19)
เมื่อเปาโลได้อยู่ในความเงียบแห่งจิตวิญญาณ มีเวลาได้หยุดคิด ทบทวน ความมืดนั้นกลับกลายเป็นความสว่างที่ทำให้ท่านยิ่งเข้มแข็ง แทนที่จะหมดกำลังเพราะผิดในสิ่งที่ทำไปก่อนหน้านั้น “ยิ่งกว่านั้น เรายังภูมิใจในความทุกข์ยาก เพราะทราบว่าความทุกข์ยากก่อให้เกิดความพากเพียร ความพากเพียรก่อให้เกิดคุณธรรมที่แท้จริง คุณธรรมที่แท้จริงก่อให้เกิดความหวัง ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะพระจิตเจ้าซึ่งพระเจ้าประทานให้เรา ได้หลั่งความรักของพระเจ้าลงในดวงใจของเรา”(รม.5:3-5)
เปาโลยอมรับสภาพแห่งการหลงไปในบาป และต้องการให้พี่น้องคริสตชนอภัยในบาปของตน แม้ว่าจะยากลำบากมากแค่ไหน เพราะท่านรู้ดีว่า เวลาเป็นเครื่องช่วยให้ท่านได้อดทนและรอคอยความหวังว่าพี่น้องจะอภัยในสิ่งที่ท่านได้พลาดไป
“เมื่อเซาโลมาถึงกรุงเยรูซาเล็มแล้ว ก็พยายามเข้าร่วมกับบรรดาศิษย์ แต่ทุกคนกลัวเขา เพราะไม่เชื่อว่า เขาเป็นศิษย์ที่แท้จริง บานาบัสจึงพาเขาไปพบบรรดาอัครสาวก และเล่าให้ฟังว่าเซาโลได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าระหว่างทาง พระองค์ได้ตรัสกับเขา และเขาได้เทศน์สอนอย่างกล้าหาญที่เมืองดามัสกัส เดชะพระนามของพระเยซูเจ้า ตั้งแต่เวลานั้น เซาโลจึงอยู่กับบรรดาศิษย์ ไปมาในกรุงเยรูซาเล็มอย่างอิสระ เทศน์สอนอย่างกล้าหาญ เดชะพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า”(กจ.9:26-28)

ชีวิตที่ผ่านมา คือการเดินทางผิดทั้งหมด

“ก่อนหน้านั้น ข้าพเจ้าเคยพูดดูหมิ่นพระเจ้า ได้เบียดเบียนและกระทำทารุณ”(1 ทธ.1:13) ชีวิตของเปาโลที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการที่ท่านได้ทุ่มเทในสิ่งที่ท่านได้เชื่อและมั่นใจ แต่สิ่งที่เชื่อและมั่นใจก่อนหน้านั้นเป็นการเดินทางผิดทั้งหมด
“ข้าพเจ้าเคยคิดว่า ข้าพเจ้าต้องทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางนามของเยซู ชาวนาซาเร็ธ ข้าพเจ้าทำเช่นนี้ที่กรุงเยรูซาเล็ม ข้าพเจ้ารับมอบอำนาจจากบรรดาหัวหน้าสมณะ ให้จับกุมคริสตชนหลายคนจองจำไว่ในคุก เมื่อเขาถูกพิพากษาประหารชีวิต ข้าพเจ้าก็ลงคะแนนให้ประหารเขาด้วย ข้าพเจ้าเข้าไปในศาลาธรรมต่าง ๆ หลายครั้ง ทรมานเขา บังคับเขาให้กล่าวผรุสวาท ข้าพเจ้าโกรธแค้นบรรดาคริสตชนมาก จึงเบียดเบียนเขาในเมืองต่าง ๆ นอกประเทศอีกด้วย”(กจ.26:9-11)
แต่เมื่อท่านได้ค้นพบกับความเป็นจริงของความเชื่อ ท่านได้เปลี่ยนตนเองจากคนที่คอยข่มเหงและเบียดเบียนคริสตชนกลายมาเป็นชีวิตที่เป็นคริสตชนอย่างสมบูรณ์โดยองค์พระจิตเจ้า “ข้าพเจ้าช่างเป็นคนน่าสมเพชจริง ๆ ใครจะช่วยดึงข้าพเจ้าออกมาให้พ้นจากร่างกายที่จะต้องตายนี้เล่า”(รม.7:24)
ท่านรู้สึกเศร้าใจเสมอที่ระลึกถึงการได้ทำให้คริสตชนที่ท่านเคยเบียดเบียนได้ตายไป เพราะความอวดเก่งของท่าน แต่จากนี้ไปเป็นหนทางใหม่ที่ไม่ใช่การไล่ล่าอีกต่อไป ท่านได้เลือกที่จะเปลี่ยน เส้นทางดำเนินชีวิตใหม่ “แต่สิ่งที่เคยเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าละทิ้ง เพราะพระคริสตเจ้า นับแต่บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งไม่มีประโยชน์อีก เมื่อเปรียบกับประโยชน์ล้ำค่าคือการรู้จักพระคริสตเยซู ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งเป็นปฏิกูล เพื่อจะได้องค์พระคริสตเจ้ามาเป็นกำไร”(ฟป.3:7-8)

เป้าหมายของหัวใจคือ พระเยซูคริสตเจ้า

เปาโลได้ตั้งเป้าหมายชีวิตของตน ตั้งแต่ยังเด็กว่าต้องเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาตามแบบอย่างของบรรพบุรุษ คอยสนใจต่อการอ่านพระคัมภีร์ การภาวนาแบบฟาริสี แต่เมื่อท่านได้พบกับพระคริสตเจ้า ชีวิตทั้งชีวิตและเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ก็คือ การรักพระคริสตเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจ ถึงแม้ว่าจะตายจากการประกาศข่าวดีของพระองค์ก็ตาม “การมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสตเจ้า”(ฟป.1:21)
ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้รักที่ท่านมีต่อพระคริสตเจ้าลดน้อยลงได้เลย “ใครจะมาพรากเราจากความรักของพระคริสตเจ้าได้”(รม.8:35)
“เราทนทุกข์ทรมานรอบด้าน แต่ไม่อับจน เราจนปัญญา แต่ก็ไม่หมดหวัง เราถูกเบียดเบียน แต่ก็ไม่ถูกทอดทิ้ง เราถูกตีล้มลง แต่ไม่ถึงตาย เราแบกความตายของพระเยซูเจ้าไว้ในร่างกายของเราอยู่เสมอ เพื่อว่าชีวิตของพระเยซูเจ้าจะได้ปรากฏอยู่ในร่างกายของเราด้วย”(2 คร.4:8-10)
ความทุกข์ยากลำบากในการประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้ากลายเป็นพลังที่ทำให้ท่านยิ่งเข้มแข็งต่อการเผยแพร่พระนามของพระผู้ที่ท่านรักสุดชีวิต แม้กระทั่งร่างกายที่ตนมีก็ไม่ได้คิดเสียดายว่าจะเป็นอย่างไร เพียงเพื่อให้เป้าหมายของชีวิตที่ท่านได้พบ เป็นความรักที่ท่านรักสุดดวงใจ และมั่นใจในความเชื่อที่ตนเองได้ประกาศพร้อมทั้งรักเพื่อนพี่น้องที่ทำงานร่วมกับท่านด้วย “ชีวิตที่ข้าพเจ้ากำลังดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตในความเชื่อถึงพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรักข้าพเจ้า และทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า”(กท.2:20)
“ข้าพเจ้าขอบคุณพระคริสตเยซู ผู้ประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้า พระองค์ทรงเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นผู้น่าเชื่อถือจึงทรงเรียกให้มารับใช้ แม้ว่าก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าเคยพูดดูหมิ่นพระเป็นเจ้า เบียดเบียนและกระทำทารุณ แต่ข้าพเจ้าก็ได้รับพระเมตตาจากพระองค์ เพราะข้าพเจ้ากระทำไปโดยความไม่รู้ขณะที่ยังไม่มีความเชื่อ พระหรรษทานของพระองค์ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อและรักในพระคริสตเยซูอย่างเหลือล้น”(1 ทธ.1:12-14)
สำหรับเปาโล การเป็นในสิ่งที่ตนเองต้องการนั้นมีค่ามาก และสิ่งที่ตนเองต้องการเป็นคือ การเป็นศิษย์พระคริสต์ที่แท้จริง เป้าหมายของชีวิตในโลกนี้จะมีคุณค่าได้ก็เมื่อยอมรับความทุกข์ทรมานในการประกาศข่าวดีเพื่อพระคริสตเจ้า เพื่อรอคอยความรักที่ยิ่งใหญ่กว่าในโลกหน้า

คริสตชนที่แท้จริงคือชีวิตที่มีพระคริสตเจ้า

เปาโลพบว่าคริสตชนที่แท้จริง คือ การมีชีวิตที่มีพระคริสตเจ้าอาศัยอยู่ เมื่อพระคริสตเจ้าอาศัยอยู่ในตนแล้ว ก็ไม่กลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตน เพราะว่าท่านได้เตรียมร่างกายและจิตใจของท่านเพื่อให้พระคริสตเจ้าเข้ามาทำงานให้ตัวท่าน “อาศัยพระธรรมบัญญัติ ข้าพเจ้าจึงได้ตายไปจากธรรมบัญญัติ เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่สำหรับพระเจ้า ข้าพเจ้าถูกตรึงกางเขนกับพระคริสตเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้ากำลังดำเนินอยู่ในตัวข้าพเจ้า”(กท.2:19)
ความตายหรือการพรากจากไม่ได้ทำให้ท่านสิ้นหวัง ไม่ได้ทำให้ความเชื่อที่เป็นเหมือนไฟที่ร้อนรนเพื่อพระนามพระเยซูคริสตเจ้าหมดไปได้เลย คริสตชนที่แท้จริงในสมัยเปาโล ยึดมั่นและเป็นหนึ่งเดียว มีทุกสิ่ง ทุกอย่างเพื่อแบ่งปัน และร่วมสวดภาวนาด้วยใจร้อนรน มีชีวิตร่วมกันโดยอาศัยพระหรรษทานช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้า พระคริสตเจ้าจะอยู่กับกลุ่มคริสตชน เพราะที่ใดที่มีการภาวนาในนามของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงอยู่ที่นั่น ชีวิตของเปาโลจึงเป็นคริสตชนที่แท้จริงเมื่อท่านได้พบกับพระคริสตเจ้า

ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดของเปาโล เพราะพระคริสตเจ้าได้ทำให้ท่านกลายเป็นศิษย์ที่มีคุณค่าและความหมายต่อคริสตชนอย่างมาก ทุกสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตกลายเป็นบทสอนใจ กลายเป็นพลัง กลายเป็นความเชื่อที่เข้มแข็งมากขึ้น พลังผลักดันของชีวิตที่ท่านได้รับคงไม่ใช่สิ่งที่ออกมาจากตัวท่านเอง แต่เป็นพระเป็นเจ้าที่ได้จัดสรร และเลือกให้ผู้ที่คนอื่นเห็นว่า ต่ำต้อย ไม่มีความหมาย ไม่มีหนทางแห่งความหวังในการจะได้รับรางวัลในโลกหน้าได้ แต่นั้นเป็นสายตาของมนุษย์ที่มองเพียงภายนอก ไม่ได้มองสิ่งที่อยู่ภายใน มองในจิตใจ มองด้วยหัวใจ
หนทางของชีวิตคริสตชน คือการแสวงหาความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงที่ท่านเปาโลค้นพบคือการมีชีวิตและลมหายใจเพื่อพระคริสตเจ้า การเปลี่ยนแปลงของชีวิตของเราแต่ละคนก็ควรจะหันกลับมามองและทบทวนสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าได้ยึดพระคริสตเจ้าเป็นองค์พระเจ้าแห่งความรัก เป็นแบบอย่าง เป็นเป้าหมาย เป็นรูปแบบชีวิตคริสตชน เป็นผู้ช่วยให้รอดในยามทุกข์ เป็นแรงบันดาลใจให้มีความสุขในชีวิตเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่นหรือไม่
คำถามที่มนุษย์รอคอยคือ ความหวังในชีวิต หวังในเรื่องต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงในสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เปลี่ยนจากสภาพเดิม ไปสู่สภาพที่ดีกว่า ความหวังหนึ่งที่มนุษย์ควรหวังและรอคอยด้วยความหวัง ด้วยความเชื่ออันไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา ต่อความวุ่นวายของโลกปัจจุบัน คือ ความหวังในพระคริสตเยซูเจ้า
“ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะพระจิตเจ้าซึ่งพระเป็นเจ้าประทานให้เรา ได้หลั่งความรักของพระเป็นเจ้า ลงในดวงใจของเรา ขณะที่เรายังอ่อนแอ พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อคนบาปตามเวลาที่กำหนด ยากที่จะหาคนที่ยอมตายเพื่อคนชอบธรรม บางครั้งอาจจะมีคนยอมตายแทนคนดีจริง ๆ ได้ แต่พระเป็นเจ้าทรงพิสูจน์ว่า ทรงรักเรา เพราะพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อเรา ขณะที่เรายังเป็นคนบาป บัดนี้ เมื่อเราได้รับความชอบธรรม โดยอาศัย พระโลหิตของพระองค์แล้ว เดชะพระองค์ เราก็ยิ่งจะได้รับความรอดพ้นจากการถูกพระเป็นเจ้าลงโทษ”(รม.5:5-9)
จงเชื่อและมั่นใจเถิดว่า ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีที่สุด ไปด้วยความหวัง รอคอยด้วยใจจดจ่อกับสิ่งที่รอ โดยไม่ปริปาก จะเปลี่ยนชีวิตไปสู่ชีวิตที่มีพระคริสตเจ้าเป็นผู้นำทาง ตามแบบอย่างของศิษย์พระคริสต์ที่ได้เป็นแบบอย่างให้แก่เราแต่ละคน ความฝัน ความหวัง จะกลายเป็นความสุขและความจริง

หนังสืออ้างอิง
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่
สมเกียรติ ตรีนิกร,บาทหลวง.เอกสารประกอบการเรียนวิชาพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่และบทจดหมายในพันธสัญญาใหม่.นครปฐม:วิทยาลัยแสงธรรม.2551
วีณา โกวิทวานิชย์.อัครสาวกเปาโล บุรุษไร้พรมแดน.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อัสสัมชัญ.2551
คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร.นักบุญเปาโล อัครสาวกองค์ที่ 13.กรุงเทพฯ:บริษัทแอ๊ดวานซ์ อินเตอร์ พริ้นติ้ง จำกัด.2550
__________________________.เคล็ดลับความเป็นผู้นำของนักบุญเปาโล.กรุงเทพฯ:บริษัทแอ๊ดวานซ์ อินเตอร์ พริ้นติ้ง จำกัด.2548
คาร์โล เอ็ม.มาณตินี. ประจักษ์พยานของนักบุญเปาโล. กรุงเทพฯ:บริษัทแอ๊ดวานซ์ อินเตอร์ พริ้นติ้ง จำกัด.2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Ment หน่อยก็ดี