วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

เหตุผลบริสุทธิ์ตามแนวความคิดของค้านท์

“มีสองสิ่งที่ทำให้ฉันงุนงงและเกรงกลัวมาตลอด ยิ่งฉันคิดถึงมัน ความคลุมเครือของมันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น นั่นคือสวรรค์ที่แจ่มจรัสด้วยดวงดาวเหนือตัวฉัน และกฎศีลธรรมที่อยู่ในตัวฉัน”

ชีวประวัติและผลงานของค้านท์

อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) เกิดเมื่อ วันที่ 2 เดือน เมษายน ปี ค.ศ.1724
ที่เมืองโคนิกสเบิร์ก (Konigsberg) ประเทศเยอรมัน ในครอบครัวที่ยากจนแต่เคร่งครัดศาสนา บิดามีอาชีพเป็นคนขายอานม้า ค้านเริ่มเรียนหนังสือที่บ้านเกิด ปี ค.ศ. 1740 ได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย สนใจศึกษาภูมิศาสตร์กายภาพ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ปรัชญาและศาสนา หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคนิกสเบิร์ก ค้านท์ก็รับจ้างสอนหนังสือตามบ้านทั่วไปอยู่หลายปี แต่ฐานะทางครอบครัวยังยากจนอยู่เช่นเดิม
ปี ค.ศ.1770 ค้านท์ดำรงตำแหน่งศาสตรจารย์ในมหาวิทยาลัยโคนิกสเบิร์ก สอนวิชาตรรกวิทยาและอภิปรัชญา ค้านท์เป็นคนเจ้าระเบียบ และตรงเวลามากจนเป็นที่กล่าวกันว่า ผู้คนชาวเยอรมันสามารถบอกเวลาได้ เมื่อเห็นค้านท์ออกจากบ้านไปทำงานและกลับมาถึงบ้าน
ค้านไม่สนใจกับความวุ่นวายของโลกมากนัก เพราะเขาจัดแบบชีวิตของตนเอาไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่อย่างไรก็ตาม ค้านท์ก็ยังมีความสนใจในกิจการบ้านเมืองพอสมควร เขาชอบแนวความคิดของรุซโซ่ เจ้าของทฤษฎีสัญญาประชาคมอย่างมาก ได้เฝ้าดูสงครามกู้อิสรภาพของชาวอเมริกัน และการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสด้วยความเห็นอกเห็นใจ ค้านท์เคยเขียนบทความเรื่อง “สันติภาพอันถาวร” ไว้ด้วยซึ่งถือว่าเป็นบทความแสดงแนวความคิดทางการเมืองของค้านท์ชิ้นสำคัญ
ตลอดชีวิตของค้านท์ ไม่เคยย่างกรายออกจากเมืองโคนิกสเบิร์กไปไหนเลยตลอดชีวิตของเขา แต่ค้านท์ติดต่อกับนักปรัชญาทั้งหลายทั่วโลกโดยทางจดหมาย ชีวิตของค้านท์ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เขาดำเนินชีวิตโสดตลอดมา และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 เดือน กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1804 ท่ามกลางชื่อเสียงและความพึงพอใจของตนเอง

ผลงานดีเด่นของค้านท์มีมากมายได้แก่
· “Critique of Pure Reason” (1781, 1787) (บทวิพากษ์ว่าด้วยเหตุผลบริสุทธิ์)
· “Prolegomena to Any Future Metaphysics” (1783)(เกริ่นนำแก่อภิปรัชญาในอนาคต)
· “Principles of Metaphysics of Ethics” (1785)(หลักการอภิปรัชญาของจริยศาสตร์)
· “Metaphysical First Principles of Natural Sciences” (1786)(หลักการแรกทางอภิปรัชญา
ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ)
· “Critique of Practical Reason” (1788) (บทวิพากษ์ว่าด้วยการใช้เหตุผลเชิงปฏิบัติ)
· “Critique of Judgement” (1790)(บทวิพากษ์ว่าด้วยการตัดสินความยุติธรรม)
· “Religion within the Limits of Mere Reason”(1793)(ศาสนาภายใต้ขอบเขตของเหตุผลแท้)
· “Perpetual Peace” (1795)(สันติภาพที่ยั่งยืน)


ความหมาย เหตุผล และ ความเป็นจริง

“เหตุผล” ตามทัศนะของค้านท์

ค้านท์กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล และเหตุผลอยู่ในจิตมนุษย์อยู่ก่อนแล้ว มีลักษณะเป็นสิ่งสากลและแน่นอน และมีอิสระในการเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ร
เหตุผลไม่ใช่เป็นผลที่ได้จากประสบการณ์ แต่เป็นสมรรถภาพทางความคิดที่จะทำให้มนุษย์เข้าใจโลกและจักรวาลได้อย่างเป็นระบบ ค้านท์มองว่า โครงสร้างความเข้าใจของมนุษย์จะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม 2+2 ผลที่ได้ก็ยังคงเท่ากับ 4 ในความเข้าใจของเราเสมอ เพราะเหตุผลเป็นผู้จัดระเบียบข้อมูลต่าง ๆ ทำให้เราเข้าใจประสบการณ์ได้อย่างแน่นอนและชัดเจน
ถึงกระนั้น ค้านท์ก็ได้แยก ความเข้าใจและเหตุผล ออกจากกัน มองว่าความเข้าใจ เป็นขบวนการทางจิตที่ทำให้ข้อมูลกลายเป็นการตัดสินสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นสิ่งนั้น ไม่เป็นสิ่งอื่นไปได้ เช่น ตึก อาคาร และอื่น ๆ โดยอาศัยการทำงานของแบบบริสุทธิ์แห่งมนัส(Categories) และหลังจากนั้น เหตุผล จะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน ข้อมูลต่าง ๆ ที่ประมวลได้ว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
ค้านท์เห็นว่า เหตุผลเป็นกฎธรรมชาติที่ตีกรอบความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ไว้ กล่าวคือเหตุผลเป็นโครงสร้างของธรรมชาติ และแยกจากประสาทสัมผัส เพราะค้านท์เชื่อว่า เหตุผลมีขอบเขตการทำงานกว้างไกลกว่าประสาทสัมผัส แต่เหตุผลก็ไม่สามารถบอกรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เหนือประสบการณ์แก่เราได้ เหตุผลบอกไม่ได้ว่า พระเจ้า, โลกแห่งความเป็นจริง ฯลฯ มีลักษณะอย่างไร เหตุผลบอกเราได้ตามที่โครงสร้างที่มีขอบเขตของเหตุผลสามารถอธิบายได้เท่านั้น ฉะนั้น ความเป็นจริง หรือ ค้านท์เรียกว่า Noumena จึงเป็นสิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้ด้วยเหตุผล เพราะเหตุผลทำให้มนุษย์เข้าใจความเป็นจริงได้ในขอบเขตของโลกแห่งประสบการณ์เท่านั้น (Phenomena)


“Noumena” สิ่งแท้จริง ความเป็นจริง สิ่งที่เป็นจริงในตัวเอง

ตามทัศนะของค้านท์ Noumena (Thing in itself) คือสิ่งที่มีอยู่จริง มีความเป็นจริงในตัวเอง และเป็นสิ่งแท้จริง แต่เราไม่รู้จักและไม่สามารถจะมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งแท้จริงได้ แต่เราอาจคิดถึงสิ่งแท้จริงได้ ในความเป็นจริงของสิ่งแท้จริง กล่าวคือ เรารู้จักสิ่งแท้จริงได้ในฐานะว่า สิ่งแท้จริงนั้นไม่สามารถรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส ไม่อยู่ในกาละและเทศะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ถูกจัดอยู่ในโครงสร้างของสมองของเรา และมีอยู่จริง
ความเป็นจริงของสิ่งที่แท้จริงนั้น สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง เป็นความรู้ที่อยู่ภายนอกจิตของมนุษย์ที่จะรับรู้โดยตรงด้วยเหตุผลไม่ได้ เหตุผลบอกได้แค่เพียงว่าความเป็นจริงนั้นมีอยู่จริง แต่เหตุผลก็ไม่สามารถอธิบายลักษณะความเป็นจริงได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่า มนุษย์สามารถหยั่งรู้ความเป็นจริงได้จริงหรือไม่ อย่างไร

บทบาทและหน้าที่ของเหตุผลในการหยั่งรู้ความเป็นจริง

“ความแตกต่างระหว่างเหตุผลกับความเข้าใจ เหตุผลแตกต่างจากความเข้าใจตรงที่เหตุผลเป็นสมรรถภาพที่ทำให้เรารู้จักมโนคติเกี่ยวกับสิ่งสากลได้”
เหตุผลแตกต่างจากความเข้าใจก็จริง แต่เหตุผลก็มีการทำงานที่ประสานกับความเข้าใจอย่างแยกกันไม่ออกเช่นกัน กล่าวคือ เหตุผลเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ให้กลไกความเข้าใจทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่ทั้งเหตุผลและความเข้าใจก็ไม่สามารถตอบปัญหาเกี่ยวกับโลกแห่งความเป็นจริงได้
เหตุผลทำให้ความรู้ที่มาจากความเข้าใจของประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเป็นระบบและเอกภาพขึ้นมา เพราะเหตุผลมีฐานของมโนคติเกี่ยวกับประสบการณ์อยู่ในธรรมชาติแต่เดิมแล้ว เมื่อเป็นดังนี้ เหตุผลยังคงต้องการที่จะเข้าใจความรู้ที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสด้วย เพราะค้านท์เห็นว่าความจริงที่ปรากฏนั้นยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ต้องมีสิ่งที่สมบูรณ์ที่ยังไม่ปรากฏ และความสมบูรณ์นี้ก็ต้องทำให้เกิดความจริงที่ปรากฎขึ้นแน่นอน
ดังนั้น เหตุผลไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งทั้งหลายในโลกมีความหมายในตัวของมันเองขึ้นมา สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนแต่มีความหมายในตัวของมันเองทั้งสิ้น เหตุผลเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นที่เข้าใจได้และมีความหมายสำหรับมนุษย์เท่านั้น

การหยั่งรู้ความเป็นจริงของเหตุผล

การหยั่งรู้ความเป็นจริงของค้านท์ มี 2 แบบ ได้แก่

1. การหยั่งรู้โดยผ่านกลไกทางจิต (เหตุผลภาคทฤษฎี หรือ เหตุผลบริสุทธิ์)

สำหรับค้านท์ การเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงที่ผ่านกระบวนการทำงานของความเข้าใจ โดยมีสภาวะผ่านกาละและเทศะของกฎไกความเข้าใจของจิต ทำให้โลกแห่งความเป็นจริง หรือสิ่งแท้จริงนั้น กลายเป็นสิ่งที่เรารู้จักแล้ว หรือโลกแห่งปรากฎการณ์ และความรู้ประเภทนี้ก็ไม่ได้ทำให้สิ่งที่มีอยู่ในโลกมีความหมายมากไปกว่าเดิมเลย
ดังนั้น เราไม่อาจรู้จักความเป็นจริง (Noumena) ได้เลย เพราะเมื่อความเป็นจริงได้ผ่านเข้ามาในโครงสร้างของจิตของเราแล้ว ความเป็นจริงจะถูกตีความจนกลายเป็นสิ่งที่ปรากฏ (Phenomena)
กล่าวคือ ในขั้นแรก สิ่งในตัวเอง (Thing in itself) จะผ่านขั้นตอนของโครงสร้างของจิตส่วนที่เรียกว่าการหยั่งรู้ (Intuition) หรือรูปแบบบริสุทธิ์ของผัสสะ (Pure forms of Sensibility) ซึ่งมีกาละ และ เทศะ กลไกของจิตส่วนนี้จะจัดข้อมูลที่ได้รับการจัดลำดับแล้ว จะถูกส่งเข้าไปสู้โครงสร้างของจิต ในส่วนที่เรียกว่าโครงสร้างแยกประเภทของมนัส (Categories) หรือรูปแบบบริสุทธิ์ของความเข้าใจ (Pure forms of Understanding) กลไกของจิตในขั้นตอนนี้จะประกอบข้อมูลและตีความข้อมูลที่ได้ออกเป็นประสบการณ์ที่เราสามารถเข้าใจได้ ซึ่งเราไม่อาจยืนยันได้ว่า ผลสรุปที่ได้จะตรงกับความเป็นจริงที่เป็นต้นตอ เพราะมันได้ถูกบิดเบือนโดยโครงสร้างการทำงานของจิตมนุษย์เสียแล้ว




ขั้นตอนการทำงานของจิต

ค้านท์กล่าวไว้ใน หนังสือ บทวิจารณ์เหตุผลบริสุทธิ์

กลไกการทำงานจิตของมนุษย์

กลไกสัมผัส กลไกความเข้าใจ
ความเป็นจริง
Noumena
กาละและเทศะ
(Pure forms of Sensibility)
หรือการหยั่งรู้
แบบบริสุทธิ์แห่งมนัส
(Pure forms of understanding or categories)
ประสบการณ์หรือสิ่งที่ปรากฎ
Phenomena





ใน Pure reason ค้านท์ได้บอกว่า เราสามารถจะเข้าถึง Noumena อีกทางหนึ่งได้นั้นคือ Practical Reason ความรู้โดยทางปฏิบัตินี้ ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นความรู้เด็ดขาด เรียกว่า คำสั่งเด็ดขาด (Categorical imperative)

2. การหยั่งรู้โดยเหตุผลภาคปฏิบัติ โดยผ่านทางกฎศีลธรรม เป็นเหตุผลที่มีอยู่จริง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เหตุผลภาคทฤษฎีนั้นไม่สามารถจะให้คำอธิบายหรือตอบปัญหาเกี่ยวกับนามธรรมเหนือโลก เช่น เรื่องความดี พระเจ้า ฯลฯ แต่ตอบปัญหาที่เป็นโลกแห่งประสาทสัมผัส
ส่วนเหตุผลภาคปฏิบัตินั้น ค้านท์เชื่อว่า ใช้กับสิ่งที่อยู่เหนือขอบเขตของประสาทสัมผัสได้ ในเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม กล่าวคือเหตุผลภาคปฏิบัตินั้นเป็นความเป็นจริงที่เราสามารถเข้าถึงได้โดยตรง

กฎศีลธรรม
มีลักษณะเป็นคำสั่ง คือสั่งให้ทำสิ่งต่าง ๆ และห้ามทำในบางอย่างด้วย มี 2 แบบ
1. คำสั่งแบบมีเงื่อนไข เช่น “ถ้านายแดงเป็นคนยุติธรรมแล้ว นายแดงก็จะได้รับคำชมเชย” หมายความว่า ถ้านายแดงยุติธรรมแล้วจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ แสดงว่าเป็นการกระทำที่หวังผล ความยุติธรรมไม่ได้เป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง มันดีเพราะมันได้รับผล แสดงว่านายแดงไม่ได้ทำตามหน้าที่
2. คำสั่งเด็ดขาด นั้นแตกต่างจากแบบแรก คือเป็นคำสั่งที่ไม่มีเงื่อนไข เช่น จงเป็นคนยุติธรรม ไม่ว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม เพราะความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ดีในตัวเองอยู่แล้ว
กฎศีลธรรมของค้านท์ มีลักษณะเป็นคำสั่งเด็ดขาด การกระทำที่ดีคือกระทำตามกฎอย่างไม่มีเงื่อนไข กฎที่ว่านี้ก็คือ การกระทำตามหลักการที่เป็นสากล ใช้ได้ในทุกกรณี เพราะฉะนั้น การที่เราจะตัดสินว่าการกระทำของเรา ผิดหรือถูก เราต้องพิจารณาดูว่า สิ่งที่เราทำนี้เราตั้งใจให้ทุกคนในโลกทำหรือไม่ นั่นคือให้ทุกคนใช้หลักการเดียวกันหรือไม่

ความแตกต่างระหว่างเหตุผลภาคทฤษฎีและเหตุผลภาคปฏิบัติ

การใช้เหตุผลภาคทฤษฎีเข้าจับประเด็นปัญหาทางศีลธรรม ก็จะเห็นว่าความเข้าใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านกระบวนการทางความคิดหรือแบบบริสุทธิ์แห่งมนัสนั้นจะบอกให้สมองของเรารู้ได้ทันทีว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งใด ถูกต้องตามระบบเหตุผลที่ได้วางไว้หรือไม่ เช่น การให้ทานเป็นการทำความดีหรือไม่ จะเป็นการวิเคราะห์ทางด้านทฤษฎีเท่านั้น เช่น ถ้าค่านิยมถือว่า การให้ทานดี เราก็จะใช้เหตุผลภาคทฤษฎีอธิบายการกระทำนั้นว่าดีได้
แต่ถ้าเราใช้เหตุผลภาคปฏิบัติเข้าจับประเด็นปัญหาทางศีลธรรม เราจะไม่สามารถอธิบายเป็นทฤษฎีบทได้ เพราะเหตุผลภาคปฏิบัติเป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นกับค่านิยม และไม่อ้างอิงกฎเกณฑ์ทางประสบการณ์ใดใด เพียงแต่บังคับให้เรามีความสำนึกว่าสิ่งนั้นดี เพราะเรารู้สึกว่ามันดีโดยไม่มีเงื่อนไข (เป็นเหตุผลซึ่งอยู่ในสภาวะบริสุทธิ์ หรือเรียกว่า เหตุผลบริสุทธิ์นั้นเอง)

สรุปและความคิดเห็นของผู้เขียน

เหตุผลบริสุทธิ์ตามแนวความคิดของค้านท์ เป็นขั้นตอนการทำงานของโครงสร้างของจิตที่มีอยู่ในมนุษย์อยู่ก่อนแล้ว เป็นความสามารถที่จะแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในจิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นจริง กระบวนการทำงานของจิตนั้น มีทั้งกาละและเทศะ และมีแบบบริสุทธิ์แห่งความเข้าใจเป็นเครื่องช่วยตัดสินว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่เป็นจริง และสิ่งใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
ความเป็นจริงตามทัศนะของค้านท์ก็คือสิ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิยามหรือการตีความหมายตามความคิดของมนุษย์ ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ค้านท์ยอมรับว่า โลกภายนอก(สิ่งแท้จริง) เช่น ต้นไม้ ทะเล อากาศ ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงก่อนที่มนุษย์จะรับรู้ แต่เมื่อมนุษย์รับรู้และลงมติว่ามันคืออะไร สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นโลกที่ปรากฏ แม้แต่เรื่องที่เกี่ยวกับนามธรรมต่าง ๆ เช่น พระเจ้า ความดี ฯลฯ ก็เป็นไปทำนองเดียวกัน ฉะนั้น ตราบใดที่ความรู้ของมนุษย์จะต้องผ่านโครงสร้างการตีความหมายและนิยามของมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็ไม่อาจจะรู้จักโลกที่แท้จริงได้เลย
กล่าวโดยสรุป กฎของสาเหตุและผลเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในจิตของเรา เขาเห็นด้วยกับฮิวม์ว่าเราไม่อาจรู้ได้อย่างแน่นอนว่า โลกอย่างที่มันเป็น เป็นอย่างไร เรารู้ได้แค่ว่า โลกที่ปรากฏต่อการรับรู้ของเราเป็นอย่างไร เพราะแม้เราจะยังไม่เคยมีประสบการณ์เลย แต่เราก็สามารถบอกได้ว่าจิตของเราจะรับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างไร
ค้านท์มองว่ามีองค์ประกอบสองอย่างที่ทำให้มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับโลกได้ อย่างหนึ่งคือเงื่อนไขภายนอกที่เราไม่อาจรู้ได้ นอกจากเราจะรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเสียก่อน เราเรียกสิ่งนี้ว่า เนื้อหาของความรู้ องค์ประกอบอีกอย่างคือเงื่อนไขภายในตัวมนุษย์เอง อาทิ การรับรู้เหตุการณ์ ในฐานะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในกาละและเทศะ เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับกฎของสาเหตุและผล เราเรียกสิ่งนี้ว่า กรอบของความรู้
ดังนั้น จะเห็นว่า เหตุผลบริสุทธิ์นั้นสามารถเข้าได้ถึงความเป็นจริงที่จิตสามารถรับรู้ได้ ในโลกนี้เท่านั้น ไม่อาจก้าวข้ามไปสู่สิ่งที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสได้ เหตุผลบริสุทธิ์เปรียบได้กับสิ่งที่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ยังขาดการได้สัมผัสให้เข้ามาในกระบวนการทางความคิด มนุษย์เราก็เช่นกัน เราจะรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ เมื่อเราเห็นมัน สัมผัสมัน และได้เข้าใจมัน เมื่อพบสิ่งนั้นอีกก็จะยังเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น ไม่เป็นสิ่งอื่น ๆ ไปได้


หนังสืออ้างอิง

กอร์เดอร์, โยสไตน์.โลกของโซฟี:เส้นทางจินตนาการสู่ประวัติศาสตร์ปรัชญา.
พิมพ์ครั้งที่แปด.กรุงเทพฯ:คบไฟ.2548.
ภัทรพร สิริกาญจน.บทบาทของเหตุผลในงานเขียนของค้านท์. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2520.
ชเอิญศรี อิศรางกูร, ผศ.ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2526
ติดคำ สฎาทู. การศึกษาเชิงวิเคราะห์ทฤษฎีความรู้ของค้านท์. นครปฐม : วิทยาลัยแสงธรรม.2534.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Ment หน่อยก็ดี