วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

วิจารณ์หนังสือประเภทสังคม เรื่อง อินแปง : ตัวอย่างเกษตรยั่งยืน เพื่อให้มีกินตลอดชีวิต

วิจารณ์หนังสือประเภทสังคม เรื่อง อินแปง : ตัวอย่างเกษตรยั่งยืน เพื่อให้มีกินตลอดชีวิต

เขียนโดย เสรี พงศ์พิศ
พิมพ์ครั้งที่ 3 พิมพ์ที่ เจริญวิทย์การพิมพ์
ราคา 120 บาท จำนวนหน้า 73 หน้า
วิจารณ์โดย : ปลายจันทร์
อิ น แ ป ง : ตัวอย่างเกษตรยั่งยืน เพื่อให้มีกินตลอดชีวิต

การพัฒนาจากอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตของประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อะไรคือตัวชี้วัดความก้าวหน้า และสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” ในปัจจุบัน
หนังสือชื่อ “อินแปง” เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ คืออีกความคิด ความคำนึงหนึ่ง ที่สังคมไทยควรหันกลับไปมองในสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา”
“ชาวอินแปง” คือ กลุ่มชนหนึ่งที่หันกลับมาทบทวนชีวิตของตน แสวงหาสิ่งที่ตนเองทำหล่นหายไประหว่างทางการดำเนินชีวิตของพวกเขา และเริ่มต้นสิ่งที่ตนเองมีอยู่และสิ่งที่ตนเองเป็น โดยไม่ได้ก้าวตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ชาวอินแปงถือเอา ชีวิตคือการศึกษา และการศึกษาคือชีวิต ไม่ได้แยกเรื่องทั้งสองออกจากกัน ศึกษาให้รู้จักการอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูล ศึกษาให้สร้างเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษาให้เห็นแก่ตัวน้อยลง และเห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น เป็นตัวอย่างของการศึกษาที่ถูกต้อง
วิธีคิดของอินแปง คือ ทำอย่างไรจึงจะพึ่งพาตนเองได้ เริ่มจากการกลับคืนสู่รากเหง้า ซึ่งไม่ใช่คืนสู่อดีต แต่หมายถึงการสืบค้นหาคุณค่าของอดีตและนำมาประยุกต์กับปัจจุบันให้สมสมัย ตอบให้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะ “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” และ “พออยู่พอกิน” แม้ไม่ร่ำไม่รวยแต่มีชีวิตที่มั่นคง มีสวัสดิการ
“อินแปง” เป็นปรัชญาชีวิตที่ชวนให้คิดต่อและแสวงหาคำตอบของตนเองไปด้วย ทำให้เห็นถึงคุณค่าและความหมายของชีวิตที่เป็นอยู่ ว่าเป็นสิ่งสวยงามและน่าค้นหามากแค่ไหน ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่า การจะดำเนินชีวิตให้มีความสุขในทุกๆ วัน คือการทำให้คนรอบข้างที่อยู่กับเรามีความสุข ดังคำถามที่ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ถามชาวบ้านคนหนึ่ง ว่ากำไรของการทำเกษตรของอินแปง คืออะไร แล้วชาวบ้านคนนั้นได้ตอบท่านว่า “อาจารย์ครับ กำไรของพวกผมอยู่ที่ความสุขของผู้อื่น”
เพราะชีวิตที่มีความสุขเฉพาะทางด้านร่างกาย แต่ไม่ได้มีความสุขทางด้านจิตใจ และมีจิตวิญญาณแห่งความรักต่อตนเองและเพื่อนพี่น้อง ก็ไม่ใช่การมีความสุขที่แท้จริงเหมือนในอุดมคติของมนุษย์ได้เลย
การพัฒนาก็เช่นเดียวกัน ถ้ามุ่งพัฒนาเพียงด้านวัตถุ ความพึงพอใจ ความต้องการต่อความอยาก การมีเงินมาก การมีบ้านหลังใหญ่โต โดยไม่ได้มองไปถึงการพัฒนาด้านจิตใจและศีลธรรม จริยธรรม สิ่งต่าง ๆ ซึ่งมนุษย์กำลังค้นหา ก็ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง
นี่คือมุมมองความคิดเห็นของชาวอินแปง บอกเล่าผ่านปลายปากกาของ ดร.เสรี พงศ์พิศ เป็นชีวิตแห่ง ความพอเพียง มีกินมีใช้ ทำให้ชีวิตของคน ๆ นั้นสุขกาย สุขใจไปตลอดชีวิต
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสไว้ว่า
“การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญเลย ขอให้มีกินมีใช้และมีชีวิตอย่างพอเพียงก็พอแล้ว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Ment หน่อยก็ดี