วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

ปรัชญาความรัก

ปรัชญาความรัก

จากเรื่อง SYMPOSIUMหนังสือในชุดปรัชญาของ เพลโต
ดร. พินิจ รัตนกุล แปลวิจารณ์หนังสือประเภทปรัชญา เรื่อง “ปรัชญาความรัก”
จากเรื่อง Symposium หนังสือในชุด ปรัชญาของ เพลโต
เขียนโดย เบนจามิน โจเวตต์ (Benjamin Jowett)
แปลโดย ดร.พินิจ รัตนกุล
สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์
จำนวนหน้า 124 หน้า ราคา 95 บาท
วิจารณ์โดย : ปลายจันทร์
ปรัชญาความรัก

“ความรักคือความสุข มักจะมาพร้อมกับความทุกข์ สองสิ่งซึ่งเคียงข้างกันเสมอ
แต่ความจริงของชีวิตคือความสงบ สิ่งเดียวที่มนุษย์ไขว่คว้าอยู่เสมอ”


มนุษย์ได้ให้นิยามคำว่า “ความรัก” ไว้หลากหลาย ตามมุมมองความคิดของแต่ละคน และเห็นว่าความรักในแบบของตนเป็นความรักที่แท้จริง ความเป็นจริงของความสุขของชีวิตมนุษย์ที่ต้องการค้นหาคืออะไร ความรักคืออะไร มนุษย์สามารถมีความรักได้หรือ หรือว่า มนุษย์มีเฉพาะสติปัญญาเพียงเพื่อจะเข้าใจ และแยกแยะในสิ่งต่าง ๆ ว่าถูกหรือผิดเท่านั้น มนุษย์สามารถอยู่ได้โดยปราศจากความรักได้หรือ แล้วถ้ามนุษย์ควรจะมีความรัก ความรักควรจะเป็นเช่นไร อะไรเป็นมาตรการตัดสินของคำว่า “ความรัก” ปรัชญาความรักของมนุษย์แต่ละคนเป็นสากลเหมือนกันหรือ หรือว่าเป็นความรักตามแต่ที่ใจของตนคิด มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการสิ่งที่ตนเองหวังไว้ แม้ว่ามนุษย์จะมีอยู่ แต่ก็ต้องการมีและเป็นในสิ่งที่ตนเองยังไม่มี ความรักก็เช่นกันมนุษย์ยังต้องการค้นหาความหมายที่แท้จริงอยู่เสมอในทุกช่วงชีวิตที่มีอยู่ เพราะความรักคือความสุข มักจะมาพร้อมความทุกข์ สองสิ่งซึ่งเคียงข้างกันเสมอ จากการที่มนุษย์มีชีวิตในโลกนี้
หนังสือ “ปรัชญาความรัก” ซึ่ง ดร.พินิจ รัตนกุล ได้แปลจากเรื่อง ซิมโพเซียม (Symposium) หนังสือในชุดปรัชญาของ เพลโต จากฉบับภาษาอังกฤษของ เบนจามิน โจเวตต์ (Benjamin Jowett) ได้พูดถึงบทสนทนาซึ่งนักปรัชญาชื่อ เพลโต ได้เขียนขึ้น เพื่อต้องการให้คำนิยามของคำว่า “ปรัชญาความรัก” โดยบอกเล่าผ่านตัวแสดง ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยของเพลโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โสเครตีส” ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน เป็นตัวเอกในเรื่อง เพื่อต้องการให้เกียรติในความรู้ที่อาจารย์ของท่านได้สอนวิชาต่าง ๆ แก่ท่าน.ในช่วงชีวิตที่ท่านอยู่บนโลกนี้
คำว่า ซิมโพเซียม (Symposium) มีความหมายว่า การชุมนุมเลี้ยงอย่างเอิกเกริกของกรีกสมัยโบราณ ซึ่งมีการดื่มสังสรรค์และแสดงสติปัญญาความรู้ มีบุคคลหลายคนถกเถียงกันด้วยเรื่องความรัก ว่าปรัชญาความรักควรจะเป็นเช่นไร เป็นเรื่องราวที่ค้นหาเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว แต่เรื่องความรักก็ยังเป็นการค้นหาสำหรับมนุษย์อยู่ทุกยุคเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความต้องการความเข้าใจในความคิดของนักปรัชญาสมัยเริ่มแรกว่าพวกท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อนำมาประยุกต์เข้ากับชีวิตของตนเป็นปรัชญาชีวิตของตน จะสังเกตเห็นว่าในปัจจุบัน ความรักของมนุษย์เป็นความรักที่อยู่เพียงเรื่องของความสุขของร่างกาย การตอบสนองตามความต้องการของตน แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม ที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งจะสามารถเข้าใจในความรักได้โดยสติปัญญาที่ปราศจากการสัมผัสความรักโดยตรง
เพลโตได้เขียนหนังสือเล่มนี้โดยใช้การเรียงลำดับความคิดความสำคัญจากน้อยไปหามาก จากดีน้อยไปสู่ความคิดที่ดีมาก โดยใช้ตัวแสดงต่าง ๆ ซึ่งได้เรียงลำดับไว้อย่างดีมาก เนื้อหาในหนังสือ ในส่วนที่เป็นคำนำเรื่อง ซึ่งประกอบไปด้วย ประวัติของเพลโต ลักษณะของปรัชญาเพลโต และวิเคราะห์บทสนทนาเรื่องซิมโพเซียม เป็นการเกริ่นนำเข้าสู่เนื้อเรื่องของบทสนทนาได้อย่างดี และที่ทำให้เข้าใจในเรื่องซิมโพเซียมได้มากยิ่งขึ้น เรื่องย่อ และข้อควรสังเกตของหนังสือเล่มนี้ ได้อธิบายได้อย่างมีขั้นตอนและกระชับ ได้ใจความ เหมาะที่จะอ่านและติดตามเรื่องราวในบทสนทนาของเพลโตต่อไปและง่ายขึ้น
เนื้อหาของบทสนทนาเป็นการสนทนาแบบโต้ตอบซึ่งเป็นการแสวงหาความรู้ที่สำคัญของเพลโต ทำให้ความคิดของผู้ร่วมสนทนาได้ความรู้อย่างกระจ่างมากขึ้น ในบทสนทนาแต่ละเรื่องเพลโตนำโลกสองโลกมาประสานกัน คือโลกของนามธรรมที่แสดงให้เห็นด้วยหัวข้อและเนื้อหาของการสนทนา และโลกของรูปธรรมที่แสดงให้เห็นในลักษณะความเป็นมนุษย์ของผู้ร่วมสนทนาทั้งหลาย ซึ่งผู้แปลได้เขียนไว้
ข้าพเจ้าเห็นว่าในหนังสือนี้ได้ให้คุณค่าของการจะเข้าใจปรัชญาได้อย่างลึกซึ้ง โดยเชื่อว่า การสนทนาโต้ตอบกันจริง ๆ เป็นวิธีการสอนปรัชญาที่มีคุณค่ามาก นอกจากจะเรียนจากตำราเรียนแล้ว ซึ่งการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ ในปัจจุบันก็ควรจะเป็นในรูปแบบของการทำความเข้าใจโต้ตอบระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ให้ความรู้แสดงออกมาทางความคิด ความเข้าใจ ด้วยเหตุผล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผู้แปลหนังสือได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเป็นอย่างดี
สำหรับข้าพเจ้า เมื่อได้อ่านเรื่องสรุปย่อของหนังสือเล่มนี้แล้ว มีความรู้สึกที่ต้องการค้นคว้าต่อไปว่า เนื้อเรื่องของการสนทนาคงจะยิ่งเข้มข้นและให้ข้อคิดต่าง ๆ มากมาย เพราะว่าในเรื่องย่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุนทรพจน์ของ อริสโตเดมัส เฟดรัส พอไซเนียส อรีซีมากัส อริสโตเฟนีส อกาธอน อัลซิไปดิส และโสเครตีส ได้ให้ความคิดสะท้อนเรื่องราวความรักในรูปแบบต่าง ๆ จากมนุษย์ที่เข้าใจในความรักน้อยที่สุด ไปสู่มนุษย์ที่เข้าใจในความรักมากที่สุด เพลโตได้เรียงลำดับของความคิดเรื่อง ความรัก ไว้ให้ผู้อ่านได้คิดไตร่ตรองไปตามเรื่องราว โดยอาศัยความรักในรูปแบบที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมมาอธิบายตามแนวทางของนักปรัชญา
ท่านได้กล่าวผ่านตัวแสดงโสเครตีสว่า ความรักทำให้คนเรามีความสุข เพราะเป้าหมายของความรักคือการได้ครอบครองสิ่งที่ดีงามตลอดไป ทำให้บุคคลนั้น ๆ สร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา โดยได้แบ่งแยกความรักออกจากวัตถุของความรัก ความรักที่แท้จริงคือความดีงามและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนโลกนี้เลย ในการเข้าใจ แต่เป็นจิตใจของคน ๆ นั้นที่แสวงหาโดยไม่ผูกพันกับวัตถุของความรักในโลก ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ชื่อเสียง เกียรติยศ ความดีงาม ศิลปะต่าง ๆ กฎหมายและการสอนหนังสือ เพราะความรักที่สมบูรณ์คือการได้ครอบครองสิ่งที่ดีงามและความดี
ส่วนในเนื้อหาของบทสนทนาจริง ๆ นั้น ผู้แปลได้แปลเนื้อหาโดยไม่ได้จัดรูปแบบของวรรคตอน ระหว่างบทสนทนาและความคิดวิเคราะห์ของตนเข้าไป จึงทำให้เกิดความสับสนระหว่างผู้สนทนาในเนื้อหา และทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน เข้าใจยาก และเกิดความคิดที่แตกไปจากเรื่องย่อที่เกริ่นนำไป
และในบทเรื่องย่อผู้แปลได้นำเรื่องของความใคร่ที่มนุษย์ทุกคนหลงไปกับเรื่องนี้มาใช้อธิบายว่า ความใคร่นั้นมีแต่จะทำให้คนรักของเราไม่มีความสุข คือมีความต้องการทางเพศเพื่อตอบสนองสิ่งที่ตนต้องการเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้หัวใจในการจะเข้าใจกันด้วยความรัก ตรงจุดนี้ได้ให้ข้อคิดอย่างดีสำหรับวัยรุ่นที่กำลังหลงระเริงไปกับอารมณ์ของตน ไม่ได้หยุดคิดทบทวนในชีวิตถึงความรักที่แท้จริงเป็นยังไง ทำให้สังคมในทุกวันนี้ มีการหย่าร้างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความรักที่ผู้คนในปัจจุบันให้แก่กันเป็นเพียงการตอบสนองความต้องการของตนเอง ไม่ได้ใช้หัวใจในการเข้าใจคนที่เรามีชีวิตร่วมอยู่ด้วย ดังที่นักปรัชญาชื่อ ปาสกัล กล่าวไว้ว่า “ความรักมีเหตุผลของตน ซึ่งเหตุผลไม่สามารถเข้าใจได้” นั้นคือการใช้หัวใจที่จะเข้าใจผู้อื่นไม่ใช่ใช้เหตุผลในการเข้าใจผู้อื่น เพราะหัวใจเป็นความลึกซึ้งที่สัมผัสได้ด้วยความรักที่มีต่อกัน
ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ได้ให้ข้อคิดในมุมมองมุมหนึ่งเท่านั้น เฉพาะในเรื่องของความรักที่มนุษย์ควรมีและควรเป็น แต่ได้ให้ให้บทวิเคราะห์ที่จะสามารถเข้าใจในสภาพการณ์ปัจจุบันได้เลย เพราะความรักของมนุษย์ มนุษย์เป็นผู้เลือกว่าจะมีความรักหรือไม่ ซึ่งความรักก็คือความสุข ความดีงาม แต่บ่อยครั้งความรัก ก็มีทั้งความทุกข์ตามมาด้วยเช่นกัน แล้วอะไรละคือสิ่งที่มนุษย์แสวงหามากที่สุด
ชีวิตของมนุษย์จะมีคุณค่าและความหมายได้ ก็ต้องมีทั้งความรัก ความเศร้า ความทุกข์ ความสุข ปนเปกันไป เพราะชีวิตคือการค้นหาความหมายที่แท้จริงสำหรับตนเอง ซึ่งทั้งชีวิตอาจจะพบกับสิ่งที่หวัง แต่บางครั้งอาจหลงลืมในความรักที่แท้จริงที่ให้กับตนและให้กับคนอื่น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่ดีงามกำลังหมดไปจากชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน แม้จะมีความรู้มาก แม้จะมีการศึกษาดี ฐานะดี ร่ำรวย ยากจน แต่ถ้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรักที่อยู่ในตนเอง แล้ว ความรักที่จะมอบให้แก่ผู้อื่นนั้นคงยากกว่าการกระทำอย่างแน่นอน เพราะเมื่อตนเองไม่มี จะมอบสิ่งที่ตนเองไม่มีให้ผู้อื่นได้อย่างไร
แท้ที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นความรัก ความสุข หรือ ความทุกข์ที่มีอยู่ ก็ยังหาความแน่นอนไม่ได้ เพราะความจริงของชีวิตคือความสงบ สิ่งเดียวที่มนุษย์ไขว่คว้าอยู่เสมอ เมื่อมีความสงบทางจิตใจ ร่างกายก็สงบปราศจากกิเลสตัณหา ทำให้หัวใจของมนุษย์มีความหมายและคุณค่ายิ่งกว่าการค้นหาความรัก หัวใจของมนุษย์ตามอุดมคติของชีวิตคือการได้มาซึ่งความสงบสุข สันติ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ซึ่งปรัชญาความรักนั้นอธิบายไม่ได้ในเรื่องของหัวใจที่มีเหตุผลของมนุษย์นั้น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Ment หน่อยก็ดี